"หมอธี" น้อมนำพระราชกระแสฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่การพัฒนาครูทั้งระบบ ย้ำครูไม่ทิ้งนักเรียน ไม่ลอกผลงานจ้างทำ ให้ตั้งใจสอนดีได้รับการตอบแทนที่เหมาะสม-เป็นธรรม วันที่ 5 ก.ค.60 ที่หอประชุมคุรุสภา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน แถลงข่าวการปรับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะและการพัฒนาข้าราชการครูแนวใหม่ “จากพระราชกระแสฯ ..สู่การพัฒนาครูทั้งระบบ” โดยมี ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ผู้บริหาร และข้าราชการศธ.เข้าร่วม โดย นพ.ธีระเกียรติ ปาฐกถาเรื่อง “วิทยฐานะและการพัฒนาข้าราชการครูทั้งระบบ” ตอนหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีความห่วงใยต่อคุณภาพการศึกษาของชาติ และทรงมีพระราชหัตถเลขา เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2555 ถึงการเลื่อนวิทยฐานะ ว่า  ครูมุ่งเขียนงานวิทยานิพนธ์  เขียนตำราส่งผู้บริหาร เพื่อให้ได้ตำแหน่งและเงินเดือนสูงขึ้น และทรงมีพระราชดำรัสว่า ระบบนี้ไม่ยุติธรรม ต้องเปลี่ยน พระองค์ทรงเน้นว่า ครูที่สอนดีทั้งปริมาณและคุณภาพ ควรจะได้รับการตอบแทน นับจากนั้น 5 ปีผ่านมา ศธ.โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามแนวทางที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานคำแนะนำ ผ่านพระราชหัตถเลขาได้อย่างประสบความสำเร็จ  การปรับหลักเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะครั้งนี้ ถือเป็นการปฏิรูปการศึกษา พัฒนาครูครั้งใหญ่ และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ดำเนินการจัดทำข้อเสนอในเรื่องของการปฏิรูปครู กระบวนการต่าง ๆ จึงถือว่ามีความสอดคล้องกันทั้งระบบ ทั้งนี้ ตนมั่นใจว่าหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะใหม่ ที่ประกาศใช้ครั้งนี้ สามารถทำให้ครูอยู่ในพื้นที่ ครูที่ตั้งใจสอน ครูที่อยู่ในห้องเรียนจะได้รับการตอบแทนที่มีความเหมาะสม อย่างเป็นธรรม  รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาเราจะได้ยินข้อกล่าวหามาตลอดว่า การประเมินวิทยฐานะ ทำให้ครูทิ้งห้องเรียน มีการคัดลอกผลงาน จ้างทำ หรือครูบางคนก็จ้างนักเรียนทำผลงาน เป็นต้น โดยครู1คนใช้กรรมการผู้ประเมิน 3 คน ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีครูทั้งหมด 4 แสนคน คำนวณเบื้องต้นต้องใช้กรรมการผู้ประเมินกว่า 1.2 ล้านคน แน่นอนว่าสพฐ.มีบุคลากรผู้ประเมินไม่เพียงพอ คนที่เป็นกรรมการประเมินจึงต้องใช้วนไปมา ทำให้การประเมินไม่ยุติธรรม และใช้งบประมาณในการประเมินค่อนข้างสูงปีละหลายพันล้านบาท ดังนั้นการประเมินวิทยฐานะแนวทางใหม่นี้ จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ครูที่ตั้งใจสอนเด็กในห้องเรียนจะได้รับการประเมินที่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ตนทราบว่าหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะแบบใหม่นี้ ยังมีครูจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย และขอกลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิม ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)ได้จัดทำบทเฉพาะกาล กำหนดรายละเอียดการประเมินวิทยฐานะกรณีผู้ที่บรรจุก่อนวันที่ 5 ก.ค.60 สามารถยื่นขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะตามแบบเดิมได้ 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี ส่วนผู้ที่บรรจุหลัง วันที่ 5 ก.ค.60 ให้ยื่นขอตามหลักเกณฑ์ใหม่เท่านั้น ขณะที่ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งจะขอกลับไปใช้เกณฑ์เดิมตลอดไป โดยอ้างว่าเป็นสิทธิที่พึงจะได้รับ ตรงนี้ต้องชี้แจงให้เข้าใจ ว่าวิทยฐานะเป็นเรื่องของค่าตอบแทนไม่ได้เป็นสิทธิ ดังนั้น จึงต้องมีมาตรฐาน ซึ่งหากมาตรฐานที่มีอยู่เดิมไม่ดีก็ต้องมีการทบทวนและการปรับหลักเกณฑ์วิทยฐานะครั้งนี้ ก็เป็นการทบทวนของกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยกันเอง ซึ่งก็ต้องยอมรับด้วย "เรื่องนี้ถือว่าเป็นการคิกออฟ การอบรมพัฒนาครูโดยมีสถาบันคุรุพัฒนา เป็นหน่วยประสานเชื่อมโยงหน่วยงานผู้จัดหลักสูตรอบรมพัฒนาครู ซึ่งจะต้องมีความเชื่อมโยงกับหลักเกณฑ์วิทยฐานะ โดย สพฐ.ได้จัดสรรงบประมาณให้ครูคนละ 1 หมื่นบาทต่อคนต่อปี เพื่อให้ครูได้เลือกหลักสูตรที่จะอบรมได้ตามความต้องการ ซึ่งครูที่สนใจสามารถประสานขอรับงบประมาณ เพื่อเลือกหลักสูตรอมรมได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป"นพ.ธีระเกียรติ กล่าว