สัมภาษณ์นายกิจจา ผลภาษี ที่ปรึกษาสำนักงานกปร. (จบ) "น้ำคือชีวิต" โครงการพระราชดำริต่างๆ อาจจะมีผู้คนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย อันนี้เป็นจุดสำคัญ ความขัดแย้งต่างๆเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผมมองในภาพรวมของประเทศแล้วค่อนข้างจะหนัก พระองค์ทรงมีพระราชดำริกับเรา ที่พูดถึงเสมอๆว่า “น้ำคือชีวิต” คนไทยมี 60-70 ล้านคน ข้างหน้าต้องขยายอีก น้ำที่เราจะใช้ปัญหายังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำแล้งหรือน้ำท่วม ความขัดแย้งต่างๆจะเป็นสิ่งที่ทำให้การพัฒนาประเทศเราช้าลง ไม่ก็หายไปจะเป็นไปได้ไหม ที่สำนักงานกปร. จะช่วยในการที่จะเอาคน 2 กลุ่ม คือเราจะเห็นว่าคนพัฒนาจะมีความเห็นของเขารูปแบบหนึ่ง คนคัดค้านความเห็นเขาจะอีกแบบหนึ่ง เราเอาคน 2 กลุ่มมาคุยกัน คุยกันให้ได้ ผมเคยพยายาม แต่ผมทำไม่ได้ ผมเคยคิด ผมเคยชวนเขามาบอกว่าทำไมเราไม่มานั่งคุยกัน ประเทศชาติต้องเดินหน้าต่อไป คนมากขึ้นทุกอย่างเปลี่ยนแปลงขึ้น สิ่งแวดล้อมก็ต้องเปลี่ยนแปลง ทำไมเราไม่มานั่งคิดกันว่า ประเทศเราแผนหลักเรามี กรมชลประทานวางไว้มี ทั้งพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาประเทศ ทำไมเราไม่มาคุยกัน อันนี้จะทำหรือไม่ทำ อันนี้ควรทำไหม ถ้าไม่ดีไม่ควรทำ แต่อันอื่นต้องทำไม่ใช่คุณจะให้หยุดหมด หยุดไม่ได้ ประเทศชาติเราต้องไปอีกเยอะ ทำนองเดียวกันกรมชลประทานจะไปทำทุกอย่างไม่ได้อีก เราต้องพิจารณาถึงความจำเป็น พิจารณาถึงประโยชน์ที่ได้รับว่าคุ้มไหม สิ่งต่างๆถ้าคนไทยหันมาคุยกัน ผมว่าอุปสรรคต่างๆพวกนี้ที่ทำให้ประเทศเรา การพัฒนาแหล่งน้ำนี้ไม่ทันกับความต้องการของราษฎร จะแก้ไขอย่างไรต่อไป “ความภูมิใจในการสนองพระราชดำริ” ถ้าพูดถึงเรื่องความประทับใจ แบบที่กล่าวมาแล้ว ผมไม่ได้มีหน้าที่ที่จะตามเสด็จพระองค์ท่าน แต่ผมมีความภูมิใจว่าได้รับสนองพระราชดำริโครงการใหญ่ๆ แต่โครงการเล็กก็มี ไม่ใช่ใหญ่อย่างเดียว พร้อมทั้งอยากจะกล่าวบางสิ่งบางอย่างที่มีความรู้สึก ผมอยากจะกล่าวถึงเขื่อนขุนด่านปราการชลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือแรกเริ่มเดิมที ตรงบริเวณใกล้เขื่อนขุดด่านปราการชลฯ กรมชลประทานมีฝายท่าด่านฝายเล็กๆ ฝายเล็กอันนี้ทดน้ำเข้าในพื้นที่โครงการนครนายก ซึ่งเกิดผลประโยชน์ได้น้อยมาก แต่ก็บรรเทาความเดือดร้อนราษฎรได้ กรมชลประทานได้เคยพิจารณาไว้ว่าลุ่มน้ำนครนายกจะไปพบกับปราจีนบุรี ทำให้เกิดน้ำท่วม ท่วมทั้งจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครนายก แล้วก็น้ำนครนายกที่มีต้นกำเนิดจากเขาใหญ่ มันมีพื้นที่ที่กรมชลประทานได้คิด คือตัวเหนือเขื่อนเหวนรก ผมเคยไปดูด้วยตัวเอง พื้นที่นี้ทางฝ่ายสิ่งแวดล้อม เขาบอกว่าเป็นพื้นที่เขาใหญ่ แต่สิ่งที่ผมเคยไปเห็นมามันเป็นทุ่งหญ้าว่างเปล่า เขาก็บอกเป็นพื้นที่ที่เสืออยู่ ช้างอยู่ ผมก็ไม่ได้เถียงเพราะว่าผมเองก็ไม่ทราบ แต่พื้นที่นี้ตามหลักการในการพัฒนาแหล่งน้ำมีความเหมาะสม ที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บนพื้นที่นี้ ซึ่งความเสียหายจากน้ำท่วมมีอยู่บ้าง แต่ผมยืนยันว่าไม่มาก ถ้าพูดถึงความคุ้ม พูดง่ายๆว่าคุ้ม แต่ก็เกิดแรงต่อต้าน ทั้งๆที่การพิจารณาของเรา พิจารณาได้หลายรูปแบบ น้ำตกเหวนรกเป็นน้ำตกที่สวยมาก แต่หน้าแล้งนี้แห้งสนิท การท่องเที่ยวคนไปเที่ยวก็เห็นความแล้ง แต่เขื่อนตัวนี้เราวางเหนือน้ำตก สามารถระบายน้ำได้จากเขื่อนมาให้กับน้ำตกในหน้าแล้งได้ และอีกอย่างหนึ่งน้ำตกเหวนรกเป็นน้ำตกที่ชันมาก ผลประโยชน์จากเขื่อนตัวนี้ถ้าใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า เราจะได้กระแสไฟฟ้ามาก เราได้กำไรจากความสูงของเขื่อน อาจจะลดน้ำมันเตา ถ่านหินเท่าไร ผมคงไม่พูดรายละเอียด แต่แรงต่อต้านมีเยอะ งานนี้ได้เคยทำเรื่องถวายกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ พระองค์ก็ทรงทราบ แต่มีแรงต่อต้านจากสิ่งแวดล้อมเยอะแยะมาก ถึงขนาดไปยืมมือต่างประเทศ เจ้าชายฟิลลิปเข้ามาต่อต้านเรื่องนี้ ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าเอามายุ่งเกี่ยวกับประเทศไทยได้อย่างไร แต่ความเดือดร้อนราษฎรข้างล่าง ทรงเห็นมากกว่าที่กรมชลประทานได้วางไว้ พระองค์ได้ทรงพิจารณาถึงพื้นที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นทุ่งนาใหญ่มากเป็นพื้นที่ดินเปรี้ยว พื้นที่ตรงนี้ผลผลิตต่ำมาก ชาวนาปลูกข้าวผลผลิตน้อยมากและปลูกยากมาก พระองค์ได้มีพระราชดำริให้กับกรมชลประทานว่า ในเมื่อเราไปสร้างตอนบนไมได้ เราเอาลงมาพิจารณาตอนล่าง เขาต่อต้านตอนบน เราก็เอามาพิจารณาตอนล่าง ซึ่งกระทบกับเขาใหญ่น้อยมาก เราสร้างเขื่อนถึงแม้ว่าจะแพงผลประโยชน์อาจจะน้อยกว่าตอนบน แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ยังมีน้ำที่ให้ราษฎรได้ใช้ เราสามารถฟื้นพื้นที่นาของอำเภอองครักษ์ ซึ่งเป็นดินเปรี้ยว ชะล้างดินเปรี้ยว แก้ไขดินเปรี้ยวได้ พร้อมกับบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำนครนายกและปราจีนบุรีได้บางส่วน โครงการนี้ก็ได้เกิดขึ้นมา เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งแสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ถ้าทรงพิจารณาทำไมได้แล้ว ก็ปล่อยไป ทิ้งไปไม่ใช่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์ท่านแน่นอน ผมเคยเข้าไปทูลถวายงาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่วังสุโขทัย 2 ครั้ง และทางภาคระวันออกเฉียงเหนือ 1 ครั้ง เกี่ยวกับโครงการอ่างเก็บน้ำทางจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดบุรีรัมย์ และปัจจุบันก็ยังอยู่ มีพระราชดำริให้สร้าง พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่เรียกว่าพื้นที่สีแดง เป็นพื้นที่ที่รุนแรง ทรงเสด็จฯไป ผมได้สนองงานเกี่ยวกับงานชลประทาน และทรงมีพระราชดำริให้เพิ่มเติม ผมอยากจะกล่าวอีกนิดหนึ่งว่า สำนักงานกปร.สามารถสนองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เกิดขึ้น จากสิ่งที่เราวางเอาไว้ต้องรอระยะเวลานานมาก สำนักงานกปร.สามารถทำให้สั้นได้ เพราะสำนักงานกปร.มีเงินสนับสนุนจากงบประมาณ แล้วนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สามารถเสนอโครงการต่างๆ แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดที่สำนักงานกปร.ให้สนับสนุนสำหรับโครงการที่ไม่มีงบประมาณกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อจะตั้งงบประมาณสมทบต่อไป ถ้างานเสร็จภายในปีเดียว สำนักงานกปร.ให้หมดได้ แต่ถ้างาน 3-4 ปี เขาก็ตั้งงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งกรมชลประทานเอง ปัจจุบันก็ดำเนินการประสานงานใกล้ชิดกับสำนักงาน กปร.งานโครงการพระราชดำริ ผมว่าไม่มีวันหมด มีงานอีกเยอะ ผมคิดว่าสำนักงานกปร.เอง มีหน้าที่จะต้องทำอีกมากมาย กรมชลประทานเองหลังจากที่ได้สนองงานโครงการพระราชดำริ งานของกรมชลประทานเองก็ได้นำแนวพระราชดำริไปใช้เสมอ พระราชดำริเป็นต้นแบบได้เลย อันนี้เป็นผลพ่วงอันหนึ่งที่เกิดมาจากความพิจารณาจากการทำงาน แต่เนื่องจากพระราชดำริกว้างและไกลมากมีผลประโยชน์เกิดขึ้นเห็นผล กรมชลประทานก็สามารถขยายงานของกรมชลประทานออกมาได้เยอะมาก โดยการนำพระราชดำริ ซึ่งไม่ใช่โดยตรง แต่อาศัยโครงการพระราชดำริที่ทรงพระราชทานให้เป็นตัวอย่างที่กรมชลประทานจะน้อมนำเอาไปขยายงานของกรมได้ “เรื่องเล่า จากต่างแดนที่เราอาจยังไม่รู้” ผมมีเกร็ดให้ฟังนิดหนึ่ง ผมเคยไปประชุมที่ประเทศจีน เกี่ยวกับเรื่องแหล่งน้ำ ประเทศจีนในปี 2544 ผมถามเขาคุณมีเขื่อนมีอ่างเก็บน้ำเยอะไหม เขาบอกก็ไม่มากนะมีประมาณ 40,000 กว่าแห่ง ต่อมาผมได้ไปอีกในปี 2552 -2553 ผมก็ใช้คำถามเดิม ประเทศจีนการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นอย่างไร เขาบอกเมืองจีนก็ยังพัฒนาช้ามาก เพราะว่าเขื่อน 60,000 แห่ง ผมถามว่าจากที่ผมอยากรู้อยากเห็น ผมเคยนึกขึ้นมาประเทศจีนมีคนกว่า 1,000 ล้านคน แต่เคยน้ำแล้งไหม ไม่เคยไม่มี มีแต่น้ำท่วม อันนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งหนึ่ง ซึ่งทำให้มีคำกล่าวของคนว่า เขื่อนมันเลวร้าย ทำลายสิ่งแวดล้อม ผมอยากให้เขาไปศึกษา ผมถามประเทศจีนว่า NGO มีความคิดเห็นแบบไหน ดูเขางงๆ เขาบอกว่าประเทศจีนไม่มี NGO ,NGO คืออะไร เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องยาก แต่มันไม่ยากถ้ามันมีคนจุดประกายขึ้นมา ให้หันหน้ามาคุยกันผมมองเห็นสำนักงานกปร. ถ้าเริ่มต้นในจุดนี้ได้ ที่จะสานเรื่องนี้ โดยให้ผู้ใหญ่ รัฐบาลรับรู้ และก็มีความเห็นว่าอย่างไร เอาคนที่เคยหันหลังชนกัน หันหน้ามาตรงกันมาคุยกัน มันจะเกิดความหมายขึ้นเยอะ