สพฐ.ตั้งงบฯปี61ช่วย รร.ไอซียู 1,000 ล้าน เมื่อวันที่ 5 ก.ค.60 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานเปิดกิจกรรม "ปฏิรูปการศึกษาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ร่วมทำ ร่วมคิด ขจัดวิกฤติโรงเรียน ICU" ว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนในถิ่นธุระกันดารมาโดยตลอด ขณะเดียวกันคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการ ก็ระบุชัดแล้วว่าปัญหาใหญ่ของประเทศคือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นตนจึงคิดว่า ต้องลงไปแก้ไขปัญหาโรงเรียนที่วิกฤติ หรือที่เรียกว่าโรงเรียนไอซียู ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่พบว่าโรงเรียนที่มีความวิกฤติในหลายด้าน ทั้งโรงอาหารไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนห้องสุขาไม่เพียงพอ อาคารเรียนมีสภาพเก่า สภาพพื้นสนามหรือลานกีฬาไม่เพียงพอระบบไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ ของโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีสภาพชำรุด สื่อการเรียนการสอนไม่เพียงพอ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้หากจะขอจัดสรรงบประมาณตามปกติคงไม่สามารถช่วยโรงเรียนเหล่านี้ได้ทัน จึงต้องใช้วิธีการที่รวดเร็ว คือ ทำเป็นนโยบาย ตามโครงการโรงเรียนไอซียู จัดสรรงบฯ ช่วยเหลือเร่งด่วน รวมถึงดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยดำเนินการ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการเข้าสู่ระยะที่สอง มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 5,032 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือและพัฒนาอย่างฉุกเฉิน 2,259 โรงเรียน โรงเรียนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือและพัฒนาอย่างเร่งด่วน 1,925 โรงเรียน และโรงเรียนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือและพัฒนาไม่ฉุกเฉิน จำนวน 848 โรงเรียน ทั้งนี้ จากการดำเนินการโครงการฯ ทั้งสองระยะที่ผ่านมา พบว่าโรงเรียนสามารถวิเคราะห์สภาพปัญหา และบางแห่งสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในเบื้องต้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีเกิดการบูรณาการร่วมกับชุมชน และภาคเอกชนในพื้นที่ ด้านนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า การดำเนินโครงการโรงเรียนไอซียู ในระยะแรกใช้งบฯ ประมาณ 80 ล้านบาท โดยให้ความช่วยเหลือโรงเรียนที่ประสบอุทกภัย ส่วนระยะที่สอง ใช้งบฯ ดำเนินการประมาณ 500 ล้านบาท และในอนาคตจะดำเนินโครงการให้เกิดความต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2561 ได้ตั้งงบฯ เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนไอซียูแล้วประมาณ 1,000 ล้านบาท