นางนิชาภา ยศวีร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า อุตสาหกรรมไมซ์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทยในลำดับต้นๆ โดยในปี 2559 ประเทศไทยได้ต้อนรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์กว่า 1.2 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยทางรัฐบาลยังได้กำหนดให้ไมซ์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมภาคบริการที่สำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ชุมชน พัฒนาบุคลากร และผู้ประกอบการแล้ว การจัดงานไมซ์ยังก่อให้เกิดองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนนวัตกรรม การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและการลงทุนใหม่ๆ อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ นางนิชาภา กล่าวว่า ทางทีเส็บจึงจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพและยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมไมซ์ให้ครบทุกมิติ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ประกอบการหลัก กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ เมืองแห่งไมซ์ และกลุ่มภาคการศึกษา ดังนั้นจึงเกิดเป็นความร่วมมือกับสมาคมพันธมิตร ได้แก่ สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) สมาคมโรงแรมไทย และสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) ในการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจไมซ์อย่างยั่งยืนต่อไปตามแนวนโยบายประชารัฐของรัฐบาล สำหรับการร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการผนึกกำลังเพื่อพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมไมซ์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่สนับสนุนให้ไมซ์เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนั้น ประกอบไปด้วยรายละเอียดสำคัญดังนี้ 1. สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาบุคลากรในด้านที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและยกระดับความพร้อมของบุคลากรของประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น ส่วน ข้อ2.เป็นการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานของบุคลากรและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อยกระดับการแข่งขันของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ 3. สร้างความตระหนักด้านการจัดงานไมซ์อย่างยั่งยืน โดยการให้ความรู้และสนับสนุนให้เกิดการนำไปปฏิบัติในองค์กรและในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการจัดงานไมซ์อย่างยั่งยืนในระดับนานาชาติ 4. ส่งผู้แทนซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านไมซ์ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ รวมทั้งปฏิบัติและดำเนินการตามแผนงานและภารกิจที่ได้ตกลงไว้อย่างสัมฤทธิ์ผล ด้าน ข้อ5. แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ทั้งในและต่างประเทศ และข้อมูลข่าวสารที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ 6. ประชาสัมพันธ์และสนับสนุนให้บุคลากรในองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์อย่างยั่งยืน รวมถึงเชื่อมโยงเว็บไซต์ของหน่วยงาน 7. จัดหาวิทยากรที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านไมซ์ เพื่อแบ่งปันความรู้ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ประสานงานให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาของสถาบันการศึกษาภายใต้โครงการหลักสูตรไมซ์มาตรฐานสากลให้ได้เข้าฝึกงานในองค์กรและในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 8. ร่วมกันปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมายในภารกิจอื่นๆตามที่ได้ตกลงไว้ ซึ่ง นางนิชาภา ยังกล่าวต่อว่า ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ทีเส็บและสมาคมพันธมิตร รวมถึงภาคการศึกษา มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ (National MICE Capabilities Development Committee) เพื่อร่วมกันวางแผนและกำหนดแนวทางการพัฒนามาตรฐานบุคลากรและองค์กรในอุตสาหกรรมไมซ์ ตลอดจนสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ รวมถึงเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาเข้าฝึกปฏิบัติงานกับผู้ประกอบการไมซ์โดยตรง มุ่งสู่การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านไมซ์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดหวังว่าความร่วมมือนี้จะเป็นการเชื่อมโยงและบูรณาการการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแนวทางการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยอย่างยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล