"มหาสารคาม"ชูศึกษานิเทศก์ ขับเคลื่อนปฏิรูปกศ.ภูมิภาค ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในส่วนภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ(คปภ.)ได้มีการพูดคุยเรื่องการเกลี่ยอัตรากำลังที่จะไปทำงานในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)กันหลายรอบแล้ว ว่าระยะแรกต้องช่วยกันหาวิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน แต่ทั้งนี้ในส่วนของผู้ที่จะเป็นศึกษานิเทศก์นั้น ควรจะมาจากศึกษานิเทศก์ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก็ เนื่องจากศึกษานิเทศก์ต้องมีความรู้ ความสามารถ เฉพาะทางจริง ๆ เพราะต้องดูทั้งนักเรียน ครูและต้องวางแผนด้วย ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา ศธจ.มหาสารคาม กล่าวว่า จ.มหาสารคาม มีโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) 406 โรงเรียน และยังมีสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) สถานศึกษาเอกชน และสถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)อีก ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลสถานศึกษาของ จ.มหาสารคาม ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามในส่วนของศึกษานิเทศก์นั้น สำนักงาน ศธจ.มหาสารคาม ได้รับทั้งสิ้น 22 อัตรา เพราะเป็นจังหวัดขนาดกลาง ซึ่งตนได้ประชุมแบ่งภารกิจให้ศึกษานิเทศก์รับผิดชอบแล้ว พร้อมมอบหมายภารกิจในการตรวจ ติดตามการดำเนินงานในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละคน เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบายของ ศธ. "ในระยะแรกนี้ผมขอให้ศึกษานิเทศก์ ไปหาข้อมูลสารสนเทศของอำเภอที่ตนเองรับผิดชอบ ทั้งจำนวนโรงเรียน ผลการเรียนของเด็ก ทั้งผลการทดสอบ O-NET ผลการประเมิน PISA การอ่านออกเขียนได้ของนักเรียน โรงเรียนมีปัญหาอุปสรรคหรือมีจุดอ่อนจุดแข็งอะไรบ้าง เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษา" ว่าที่ ร.ต.ธนุ กล่าวและว่า ต้องถือว่าศึกษานิเทศก์ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสำนักงาน ศธจ.มหาสารคาม ยังไม่มีครูมาเป็นศึกษานิเทศก์ จึงไม่มีปัญหาในเรื่องของการเกลี่ยศึกษานิเทศก์