กรมการแพทย์ จัดประชุมบูรณาการระบบเวชศาสตร์ฉุกเฉินร่วมกับเครือข่ายในภูมิภาคอาเซียน รองรับภัยพิบัติรูปแบบต่างๆที่รุนแรงและพบได้บ่อยมากขึ้น มุ่งลดและป้องกันความพิการหรือการเสียชีวิตของผู้ป่วย ที่ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม The 2nd ASEAN Executive Meeting on “ASEAN Emergency Medicine and Disaster Preparedness” ว่า การพัฒนาและเตรียมบุคลากรทางการแพทย์สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะปัจจุบันระบบบริการด้านการแพทย์ต้องรับมือกับปัญหาภัยพิบัติรูปแบบต่างๆที่รุนแรงและพบได้บ่อยมากขึ้น ทั้งนี้การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนทำให้การติดต่อสื่อสาร การคมนาคมระหว่างกันมีความสะดวกเพิ่มขึ้น อาจส่งผลเกี่ยวเนื่องด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามมา ไม่ว่าจะเป็น โรคติดต่อ อุบัติเหตุฉุกเฉิน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรทางการแพทย์สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถีโรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน ให้มีความรู้และความเข้าใจสามารถถ่ายทอดวิชาการและประสบการณ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพให้แก่บุคลากรด้านสาธารณสุขทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น สามารถพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง Medical Hub ในด้านวิชาการสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินของภูมิภาคอาเซียน และในระดับสากล นายแพทย์ปานเนตร  ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากรมการแพทย์ได้พัฒนาความร่วมมือและสร้างเครือข่ายในการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินและฝึกอบรมสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่มีการลงนามความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านคุณภาพการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามอย่างรวดเร็ว มีบุคลากรสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินที่มีคุณภาพมากขึ้น ตลอดจนก่อให้เกิดระบบสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีการต่อยอดไปยังโรงพยาบาลอื่นๆในประเทศอาเซียนเพิ่มเติม เพื่อวางรากฐานการแพทย์ฉุกเฉินให้มีมาตรฐานและยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีความรวดเร็ว เหมาะสม และทำงานเป็นเครือข่ายถือเป็นสิ่งสำคัญ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมมือกับสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย จัดการประชุมดังกล่าวขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินแก่บุคลากรด้านสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ด้านผ่าตัดทางกล้องจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ จำนวน 115 คน ภูมิภาคอาเซียนและทวีปเอเชีย 35 คน ซึ่งจะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวางแนวทางการรักษาที่มีมาตรฐานเหมาะสมร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนบูรณาการระบบเวชศาสตร์ฉุกเฉินร่วมกับภาคีเครือข่ายในภูมิภาคอาเซียนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น ป้องกันความพิการหรือเสียชีวิตของผู้ป่วย