ช่างทองหลวงเดินตามรอยพ่อ กษัตริย์ผู้ทรงสร้างสรรค์ อนุรักษ์ พัฒนา (1) “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” จาก พระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 ครั้งทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงตั้งพระราชสัตยาธิษฐานในวันอันศักดิ์สิทธิ์ จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทุกอย่างเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และประเทศชาติเป็นสำคัญ “...น่าภูมิใจยิ่งนักศิลปะของไทยรุ่งเรืองมาแต่โบราณกาลและสามารถแสดงลักษณะของชาติได้อย่างแท้จริงก็เพราะบรรพบุรุษของเรามุ่งทำขึ้นเพื่อศิลปะด้วยความบริสุทธิ์ใจแท้ๆการเผยแพร่งานศิลปะของไทยในต่างประเทศนั้นก็เป็นประโยชน์โดยส่วนรวมมากเพราะศิลปะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างชาติและทำให้นานาชาติอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุขได้...” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อทอดพระเนตรโบราณสถานและ โบราณวัตถุที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาและเพนียดคล้องช้าง เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2505 จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองสิริราชย์สมบัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประชาชนชาวไทยจะได้เห็นการเอาพระราชหฤทัยใส่ในประโยชน์สุขของประชาชนทุกด้าน ทรงห่วงใยประเทศชาติชาติทุกเรื่องอันแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในทุกๆด้าน อัน เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่ชาวไทยและคนทั่วโลกทั้งด้านการเกษตรกรรม ด้านวิศวกรรม ด้านศิลปกรรม ด้านดนตรี ด้านกีฬา ด้านการศึกษาและศิลปวัฒนธรรม แม้แต่ในด้านช่างฝีมือต่างๆ พระองค์ทรงสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณประโยชน์ให้แก่ประชาชนชาวไทยที่พระองค์ทรงรักประดุจลูก ทรงวางรากฐานที่ยั่งยืนให้พสกนิกรสามารถดำรงวิถีชีวิตให้อยู่ดี มีสุข คือพระราชทานแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แก่พสกนิกรไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพใดฐานะใดโดยทรงเป็นแบบอย่างแห่งความเป็นครูของแผ่นดินไทย เป็นครูที่ยิ่งใหญ่ทรงถ่ายทอดแนวคิด องค์ความรู้ด้านการดำเนินชีวิต งานสร้างสรรค์และงานพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อประชาชนของพระองค์ได้น้อมนำสู่การปฏิบัติแล้วก่อประโยชน์สุขในการดำรงชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืนได้จริง พระอัจฉริยภาพในด้านงานช่างฝีมือ พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นักสร้างสรรค์ ดังที่เราพบเห็นพระฉายของพระองค์ในการทรงงาน เช่น ทรงกำลังประดิษฐ์เครื่องรับ-ส่งวิทยุ ทรงกำลังสร้างเรือใบ ทรงกำลังเป็นช่างไม้ฯ พระองค์ทรงเป็นต้นแบบเป็นแรงบันดาลใจให้เราทั้งหลายดังที่ปรากฏในหนังสือความเป็นครูของแผ่นดินในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ความเป็นครูของพระองค์คือ “ทรงทำให้ดู”คนไทยได้เห็นประจักษ์ว่าทรงทำจริงทรงทำได้จริงๆทรงขยัน ทรงอดทนซึ่งในงานช่างฝีมือต่างๆนั้นการทำให้ดูถือว่าเป็นวิธีการสอนที่ดีที่สุดของการเรียนการสอน จึงถือว่าพระองค์เป็นครูช่างที่ยิ่งใหญ่ของแผ่นดิน การอนุรักษ์ สืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาตินั้นพระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ และทรงถ่ายทอดแรงบันดาลพระราชหฤทัยนี้สู่พระราชธิดาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จนมีการก่อตั้ง กาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง ขึ้นในปีพุทธศักราช 2538 ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เพื่อเทิดพระเกียรติสนองพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นสถานศึกษาทำหน้าที่ในการจัดการศึกษา ถ่ายทอดความรู้การสืบสานและอนุรักษ์งานช่างทองหลวงช่างทองโบราณ งานศิลปกรรม และงานเครื่องประดับอัญมณี เพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความรักงานด้านนี้ได้เป็นผู้ร่วมอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติตราบนานเท่านาน กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง มีความภาคภูมิใจ และ เป็นเกียรติแก่สถานศึกษาที่ได้เป็นผู้สืบสานพระราชปณิธาน งานช่างทองหลวง ที่เป็นภูมิปัญญา อัตลักษณ์ของชาติไทยสู่งานต่างๆของสถานศึกษาแรกก่อตั้งนั้น ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้อาคารเครื่องสูงเดิม อาคารที่พักข้าราชบริพารเดิม (อาคารเต๊ง) และอาคารโบราณข้างหมวดวรอาสน์ เป็นอาคารเรียนรวม 3 หลัง ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2538 ระดับ ปวช.สาขาวิชาช่างทองหลวง และสาขาวิชาวิทยาการการเจียระไนอัญมณี ต่อมาได้ขยายวิทยาเขตแห่งที่ 2 ขึ้นในพื้นที่ 16 ไร่ เลขที่ 299/1 หมู่ 5 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีอาคารรวม 4 หลัง ประกอบด้วย อาคารอำนวยการ อาคารเรียนและปฏิบัติการพร้อมโรงอาหาร-หอประชุม และอาคารที่พักครู-อาจารย์ เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2545 การเปิดสอนระดับปริญญาตรี โดยกระทรวงศึกษาธิการ อนุมัติเปิดสอนระดับปริญญาตรี สาขาวิชาช่างทองหลวงเมื่อปี2543 โดยให้กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง เข้าร่วมเป็นศูนย์การเรียนของสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน “…ชาติไทยเรานั้นได้มีเอกราช มีภาษา ศิลปะ และขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเอง มาช้านานหลายศตวรรษแล้ว ทั้งนี้เพราะบรรพบุรุษของเราได้เสียสละอุทิศชีวิต กำลังทั้งกายและใจ สะสมสิ่งเหล่านี้ไว้ให้เพื่อพวกเรา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้คงทนถาวร เป็นมรดกของอนุชนรุ่นหลังต่อไป ข้าพเจ้าเห็นว่าโบราณวัตถุและศิลปวัตถุทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ชี้ให้เห็นอดีตอันรุ่งโรจน์ของชาติไทยเรา เป็นประโยชน์แก่การศึกษาทั้งในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี และวัฒนธรรม จึงควรที่ทุกฝ่ายจะได้ช่วยกันทะนุถนอมบำรุงรักษาอย่าให้สูญสลายไป...” พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัดสุโขทัยวันที่ 25 มกราคม 2507 ดร.ลาวัลย์ ภักดัลิขิต และ มาลาริน บุญวันต์ กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง/ข้อมูล