ช่างทองหลวงเดินตามรอยพ่อ กษัตริย์ผู้ทรงสร้างสรรค์ อนุรักษ์ พัฒนา (จบ) "...โบราณวัตถุศิลปวัตถุและโบราณสถาน ทั้งหลายเป็นของมีคุณค่าและจำ เป็นแก่การศึกษาค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ศิลปโบราณคดี เป็นการแสดงถึง ความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทย ที่มีมาแต่อดีต ควรสงวน รักษาไว้ให้คงทนถาวรเป็นสมบัติส่วน รวมของชาติไว้ตลอดกาล..." พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาวันที่ 26 ธันวาคม 2504 พระราชดำรัส ดังกล่าวข้างต้น ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ คณะผู้บริหาร ครู คณาจารย์ และ ศิษย์ของกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง ในการมุ่งมั่นสร้างองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมของชาติ ผลิตช่างฝีมือ ช่างชำนาญการช่างผู้เชี่ยวชาญในการสืบทอด และพัฒนางาน ด้านงานช่างทองหลวง งานเครื่องเงิน เครื่องทองแบบโบราณของแต่ละชุมชน เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชาติให้โลกรู้จักอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมา กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง ยังได้รักษาไว้ซึ่งการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาติ โดยการสนองงานให้กับสำนักพระราชวัง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และกองงานส่วนพระองค์ โดยการสร้างพระพุทธมหาราช ฉ ปริวัฒน์ พระประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช เนื่องในวโรกาสฉลองพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ การสร้างพระโกศทองใหญ่เชิงชนวนแก้วเจียรไนหุ้มทองคำ ลงยาสี และพระทรงตักทองคำลงยาสีขันน้ำพานรอง (ถมเงิน) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีที่ตัดซองจดหมายรูปพระขรรค์ (ถมเงิน)เครื่องประดับโขน ละคร ชุดพรหมาศ การบรูณะ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค เครื่องทอง และเครื่องประดับโบราณกี๋ทองคำลงยาสี สำหรับใส่ถ้วยพระโอสถพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช เครื่องราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เครื่องราชอิสริยยศ (ชุดพาน) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมารและ เครื่องราชอิสริยยศ (แหวน) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร(สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรรัชกาลที่ 10) การสืบสานผ่านการจัดการเรียนการสอนสู่การเป็นอาชีพงานสลักดุน งานช่างทองโบราณ งานออกแบบ งานช่างทองหลวง งานศิลปะนิพนธ์ และงานโครงการต่าง ๆ ด้วยการจำลองงานโบราณแบบต่างๆในสำนักพระราชวัง งานต่อยอดการสร้างสรรค์นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์และงานร่วมสมัยโดยนำองค์ความรู้จากภูมิปัญญา ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ในสาขาอาชีพเฉพาะทาง จากสำนักพระราชวัง แหล่งองค์ความรู้ในชุมชน ท้องถิ่น การจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยร่วมกับสถานประกอบการ สมาคมช่างทองไทย สมาคมผู้ค้าอัญมณีแห่งประเทศไทย เพื่อให้การสืบสานองค์ความรู้ และประสบการณ์ สู่ผู้เรียนอย่างครอบคลุมสาขาอาชีพเฉพาะทาง การพัฒนาคนโดยการสร้างโอกาสทางการศึกษาดำเนินตามแบบอย่างการทรงงานของพระองค์ที่เราพบเห็นพระฉาย ทรงถือแผนที่ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปพื้นที่ราบสูงและทุรกันดาร มีพระเสโทไหลที่พระนาสิกนับเป็นพระฉายที่คุ้นตาของประชาชนชาวสยาม “...งานของแผ่นดินนั้น เป็นงานส่วนรวม มีผลเกี่ยวเนื่องถึงความเจริญขึ้น หรือเสื่อมลงของบ้านเมืองและสุขทุกข์ของประชาชนทุกคน ข้าราชการผู้ปฏิบัติ บริหารงานของแผ่นดิน จึงต้องสำนึกตระหนักในความรับผิดชอบที่มีอยู่ และตั้งใจพยายามปฏิบัติหน้าที่โดยเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความเข้มแข็งสุจริต และด้วยปัญญารู้คิดพิจารณา ว่าสิงใดเป็นความเจริญ สิ่งใดเป็นความเสื่อม อะไรเป็นสิ่งที่ต้องทำ อะไรเป็นสิ่งที่ต้องละเว้นและกำจัด อย่างชัดเจน ถูก ตรง...” พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน เนื่องในโอกาส วันข้าราชการพลเรือน ปี พุทธศักราช 2550 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม 2550 “...ความเจริญของคนทั้งหลายย่อมเกิดมาจากประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพชอบ เป็นหลักสำคัญผู้ที่จะสามารถประพฤติชอบและหาเลี้ยงชีพชอบได้ด้วยนั้นย่อมจะมีทั้งวิชาความรู้ ทั้งหลักธรรมทางศาสนาเพราะสิ่งแรกเป็นปัจจัยสำหรับใช้กระทำการทำงานสิ่งหลังเป็นปัจจัยสำหรับส่งเสริมความประพฤติและการปฏิบัติงานให้ชอบคือให้ถูกต้องและเป็นธรรม...” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแก่ครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม4 จังหวัดภาคใต้ ณ จังหวัดปัตตานี 24 สิงหาคม 2519 พระบรมราโชวาท ข้างต้น ชาวกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง ได้น้อมนำแบบอย่าง ความมุ่งมั่น และพระราชปณิธานของพระองค์ท่านที่ทรงให้โอกาสและพัฒนาในด้านการศึกษาแก่ประชาชน โดยการจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคี และเริ่มรับนักเรียนจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ฯ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ซึ่งเป็นชนเผ่า เผ่าเย้า เผ่าม้ง เผ่ากระเหรี่ยง เผ่ามูเซอ และเผ่าอาข่าจากเขตพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราน แพร่ น่าน ตาก ลำปาง เพชรบูรณ์ และพื้นที่ราบภาคตะวันออกเฉียงเหนือจังหวัดอุดรธานี ชัยภูมิ และนครราชสีมา เข้ามาศึกษาเพื่อการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ และการกลับไปพัฒนาถิ่นเกิด เพื่อความเข้มแข็งและยั่งยืน ตามรอยกษัตราสถานศึกษาตามรอยพระยุคลบาทอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของสถานศึกษาที่ได้มีโอกาสสร้างสถานศึกษาและเยาวชนต้นแบบ "ทำดีตามรอยพ่อ" ให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม จิตอาสา ปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีต่อการปฏิบัติตนให้เป็นคนดีของสังคม ผ่านโครงการและกิจกรรมในสถานศึกษา เห็นได้จากโครงการตามรอยพระราชดำริ โครงการส่วนพระองค์ โครงการปลูกฝังความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โครงการพัฒนาองค์ความรู้อาชีพช่างทอง และโครงการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่อเป็นรากฐานในการประกอบสัมมาอาชีพ และดำเนินวิถีชีวิตที่ดีงาม ในการเตรียมงานพระราชพิธี ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร นักศึกษา กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ในระดับ ปวช.และ ปวส. สาขาวิชาช่างทองหลวง ได้สมัครเป็นจิตอาสาและได้รับการคัดเลือกจากกรมศิลปากร จำนวน 30 คน ให้ปฏิบัติงานในส่วนของการสร้างฉัตรโลหะประกอบพระเมรุมาศ (งานโลหะและงานบุดุน)ต่างรับหน้าที่ในการสลักดุนเฟื่องระย้าเงินประดับพระที่นั่งราเชนทรยาน พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย และราชรถน้อย จำนวน 3 องค์ องค์ละ 12 ชุด รวม 36 ชุด ซึ่งทำจากโลหะเงินนำมาบุดุน เป็นลายใบเทศ จากนั้นนำไปฉลุลาย ประดับกระจก แล้วจึงนำไปประดับตกแต่งในส่วนบุษบก โดยเริ่มปฏิบัติงานมาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2560 ทุกคนที่ได้รับการคัดเลือก มีทักษะฝีมือและมีความชำนาญการในด้านโลหะและงานบุดุนตามหลักสูตรที่วิทยาลัยจัดการเรียนการสอน และยังได้ให้นักเรียนนักศึกษาฝึกงานที่มีความบกพร่องทางการได้ยินแต่มีฝีมือด้านงานศิลปกรรม ได้เข้ามาช่วยงานที่มีความสำคัญยิ่งครั้งนี้ด้วย แต่ละคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นครั้งเดียวในชีวิตที่จะได้ทำถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจ ไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่ส่งถึงพ่อแม่วงศ์ตระกูลก็ได้ปลื้มปิติไปด้วย ที่พวกเขาได้มีโอกาสมาทำงานถวาย เพราะเป็นการทำงานที่สำคัญและยิ่งใหญ่ ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ แต่เยาวชนเหล่านี้โชคดีที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณมีโอกาสเรียนที่วิทยาลัยกาญจนาภิเษก ช่างทองหลวงและได้เรียนสาขางานช่างทองหลวงจึงได้รับการคัดเลือกเข้ามา เพราะไม่ต้องมาหัดทำหรือฝึกใหม่ เป็นงานที่เรียนอยู่แล้ว จึงคิดว่าเป็นความโชคดีและเป็นบุญของเขาจริงๆ ที่ได้ถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9 หลายคนที่ได้พูดคุยยังบอกว่าทราบข่าวในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต รู้สึกเสียใจมาก เมื่อทราบข่าวจากวิทยาลัยว่าสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ประกาศรับสมัครจิตอาสาที่มีความสามารถในด้านงานโลหะ (งานบุดุนโลหะ) จึงอยากจะตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ท่าน ที่มีต่อลูก ๆ กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวงและพสกนิกรประชาชนชาวไทย จึงได้ตัดสินใจสมัครทันที เพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดสร้างพระโกศจันทน์ และงานศิลปกรรมเครื่องประกอบพระเมรุมาศ ที่สำคัญ คือการเดินตาม พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2536 ความตอนหนึ่งว่า... “...งานทุกอย่างมีบุคคลซึ่งมีชีวิตจิตใจ มีความนึกคิดเป็นผู้กระทำ ถ้าผู้ทำมีจิตใจไม่พร้อมจะทำงานเช่น ไม่ศรัทธาในงาน ไม่สนใจผูกพันกับงาน ผลงานที่ทำก็ย่อมบกพร่อง ไม่คงที่ ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติมีศรัทธา เข้าใจซึ้งถึงประโยชน์ของงาน พร้อมใจและพอใจที่จะขวนขวายปฏิบัติงานโดยเต็มกำลังความสามารถ งานจึงจะดำเนินไปได้โดยราบรื่น และบรรลุผลตามที่มุ่งหมาย...” และ พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา 8 กรกฎาคม 2530 “...เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆนั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และ ความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น...” “ที่สุดในชีวิตแล้วที่ได้อยู่ภายใต้ร่มพระบารมีและได้มาเป็นส่วนหนึ่งในงานครั้งนี้ ยังได้ใช้ทักษะและความสามารถที่ได้เรียนมาเฉพาะทางในงานนี้ด้วย นำมาซึ่งความภาคภูมิใจ แก่ กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง และเป็นเกียรติแก่ตนและวงศ์ตระกูลยิ่ง”เสียงบางคนในกลุ่มนักศึกษากล่าวในช่วงท้าย ดร.ลาวัลย์ ภักดัลิขิต และ มาลาริน บุญวันต์ กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง/ข้อมูล