เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 60 นางบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมDelhi Dialogue ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 4 – 5 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา ณ กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ซึ่งถือเป็นการประชุมสำคัญ เนื่องในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์อาเซียน – อินเดีย 25 ปี และตั้งแต่เดือน ส.ค. 2561 ไทยจะรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานของอาเซียนกับอินเดีย เป็นระยะเวลา 3 ปี ในการประชุม Delhi Dialogue ครั้งนี้ เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีโดยไทยมีนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุม ได้มีการอภิปรายในหัวข้อต่างๆ และในช่วงการประชุมทั้ง 10 ประเทศอาเซียน และอินเดีย ได้หารือกันถึงทิศทางความสัมพันธ์อย่างรอบด้านในทุกมิติ และร่วมกันหารือถึงแผนการดำเนินงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน กับอินเดีย ในช่วง 25 ปี ข้างหน้า โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แสดงวิสัยทัศน์ในประเด็นหลัก 4 ประเด็นได้แก่ ศูนย์กลางของเศรษฐกิจของโลกกำลังเคลื่อนจากภูมิภาคแปซิฟิกมาสู่ภูมิภาคอินโดแปซิฟิก วาระใหญ่ใน 25 ปี ข้างหน้าระหว่างอินเดีย กับอาเซียน จึงจะเป็นความร่วมมือในกรอบอินโดแปซิฟิก เพื่อให้ประชาชนได้มีความมั่งคั่ง และสันติสุข ประเด็นต่อมาคือจุดเชื่อมต่อของประชาคมอินโดแปซิฟิกนั้นมีอยู่แล้วตามแผนเชื่อมโยงอาเซียน (ASEAN Connectivity 2015) ในกรอบอาเซียนผืนแผ่นดินหลักคือ ACMEC และกรอบแผนเชื่อมโยง 7 ประเทศในเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ BIMTEC และกรอบใหญ่อีกกรอบคือแผนเชื่อมโยง 21 ประเทศรอบมหาสมุทรอินเดีย หรือ India Ocean Rim Association และยังมีแผนเขตการค้าเสรี RCEP ที่ประกอบด้วยอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งหากอินเดีย และอาเซียน สามารถร่วมผลักดันแผนเชื่อมโยงทั้งหมด ก็จะเป็นพื้นฐานสร้างประชาคมอินโดแปซิฟิกในยุคต่อไป ประเด็นที่ 3ที่รมช.ต่างประเทศได้นำเสนอคือ ไทยพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ บทเรียนต่างๆ ในการสร้างประชาคมเอเชียแปซิฟิก ในบริบทของประวัติศาสตร์ หรือการเรียนรู้ของไทยในกรอบอาเซียน ในกรอบของความร่วมมือกับประเทศต่างๆ โดยในนโยบายของไทยสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีชาติชาย ชุณหวัณ ที่ใช้คำว่ว่า “เปลี่ยนสนามรบเป็นตลาดการค้า” ประเด็นที่ 4 นายวีระศักดิ์ เสนอว่า อินเดีย และอาเซียน ควรเสริมสร้างพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันเพื่อเป็นแกนกลางของประชาคมแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างอินเดีย – เมียนมา และไทย ซึ่งแผนยุทธศาสตร์เชื่อมนี้น่าจะเสร็จสิ้นในระยะเวลา 18 เดือน และเส้นทางนี้จะเชื่อมกับถนนในลาว และเวียดนามในอนาคต สำหรับการประชุม Delhi Dialogue เป็นการประชุมขับเคลื่อนในแทรค 1.5 คือมีทั้งระหว่างภาครัฐ และภาควิชาการ และเอกชน เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเป็นการดำเนินการระหว่างกระทรวงต่างประเทศอินเดีย กับสมาพันธ์หอการค้า และอุตสาหกรรมของอินเดีย จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2552