กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรให้มีคุณภาพ โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตและการควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐาน ส่งผลให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น สามารถสร้างเศรษฐกิจที่ดีให้กับชุมชน นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีมูลค่าทางการตลาดมากกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี อัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 20 ต่อปี และมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เนื่องจากประชาชนสนใจผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่ๆ ที่ใช้สมุนไพรตามธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มอบหมายให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ จัดทำโครงการบูรณาการ “การพัฒนาคุณภาพสมุนไพรด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชน” เพื่อพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพร รวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพร ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน พัฒนาองค์ความรู้ของชุมชนในการผลิตวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสมุนไพร และส่งเสริมศักยภาพของชุมชนในการจำหน่ายสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าว เริ่มตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้การควบคุมคุณภาพในด้านต่างๆ ตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสมุนไพร ได้แก่ สถานที่เก็บวัตถุดิบและสารเคมี สถานที่ผลิต จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ตลอดจนการตรวจวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผสมสมุนไพร ทั้งทางด้านเคมีและจุลชีววิทยา เพื่อให้การผลิตเครื่องสำอางสมุนไพรมีคุณภาพมาตรฐาน ภายหลังการส่งเสริมการพัฒนาแล้ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรที่ผลิตได้จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมอบรมจำนวน 149 ราย สำหรับผลิตภัณฑ์สามอันดับแรกที่มีการนำมาตรวจวิเคราะห์มากที่สุด ได้แก่ สบู่ก้อน แชมพู และครีมบำรุงผิวกาย "อย่างไรก็ตามการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ติดตามความก้าวหน้าในการปรับปรุงการผลิตเพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ โดยทำงานบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ได้แก่ การปนเปื้อนเชื้อ ความไม่คงตัวของผลิตภัณฑ์ การปนเปื้อนโลหะหนัก การเตรียมตัวอย่างสมุนไพรในตำรับ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในคุณภาพผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้ส่งเสริมด้านการตลาด โดยหาช่องทางให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผ่านมาตรฐานได้ไปจำหน่ายที่ตลาดคลองผดุงกรุงเกษมและที่อื่นๆ ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้ ทำให้มีเครือข่ายของผู้ใช้สินค้าและเป็นที่สนใจของต่างชาติที่จะนำไปจำหน่ายในต่างประเทศ"นายแพทย์สุขุมกล่าว