องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดแพร่ เปิด “ศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก” ณ หมอนไม้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เพื่อพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก และเป็นแหล่งเรียนรู้ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก นายพิชัย รุจิโรจน์สุวรรณ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เปิดเผยว่า การปรับใช้เทคโนโลยีด้านการอุตสาหกรรมไม้ในประเทศไทย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับปรุงรูปแบบ การดำเนินงานให้มุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับศักยภาพการผลิตของการอุตสาหกรรม และสามารถต่อยอดขยายฐานใหม่ด้วยการพัฒนานวัตกรรม ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในส่วนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ จะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทย มีการพัฒนาเข้าสู่สังคมนวัตกรรมและเตรียมการเข้าสู่ประเทศรายได้สูงในอนาคต จึงต้องให้ความสำคัญกับการใช้องค์ความรู้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ ในภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงและนำเทคโนโลยีไปใช้กับเกษตรกรรายย่อย วิสาหกิจชุมชน รวมไปถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมไม้ มุ่งเน้นการส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นด้านอุตสาหกรรมไม้ ได้เล็งเห็นผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้สักในจังหวัดแพร่ที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้สักไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ตลาดต้องการ อ.อ.ป. จึงร่วมบูรณาการกับ หน่วยงานต่างๆ อาทิ ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดแพร่ ผลักดันให้เกิด “ศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก” ณ หมอนไม้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เพื่อพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก และเป็นแหล่งเรียนรู้ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปีพ.ศ. 2556 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด 195.73 ล้านบาท โดยเป็นงบอุดหนุนจากรัฐบาล 185.09 ล้านบาท และเป็นงบประมาณของ อ.อ.ป. 10.64 ล้านบาท 	นายพิชัย  รุจิโรจน์สุวรรณ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้สักแห่งนี้ นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้ในด้านการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้สักแล้ว ยังมองถึงความสำคัญด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชุมชน ท้องถิ่นอีกด้วย ในส่วนของการผลิต อ.อ.ป. จะช่วยพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก และบรรจุภัณฑ์ให้มีมาตรฐานสากลสามารถแข่งกับตลาดภายนอกได้ ตลอดจนเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าให้มากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างรายได้ในการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้สักให้แก่ ผู้ประกอบการ ประชาชนในท้องถิ่น และสามารถช่วยแก้ปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าต่อไปอีกด้วย การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ทำให้ศูนย์การถ่ายทอดฯ แห่งนี้ ครบวงจรหรือทันสมัยที่สุดในภาคเหนือ นอกเหนือจากการแปรรูปไม้ด้วยกระบวนการเดิมแล้ว การใช้เครื่องมือ เครื่องจักรที่ทันสมัยมาช่วยในการแปรรูปจะทำให้ใช้วัตถุดิบไม้สักไม่สิ้นเปลือง ซึ่งทางศูนย์การถ่ายทอดฯ ยังได้เพิ่ม “เครื่องเลื่อยไม้อัตโนมัติ” ที่มีส่วนช่วยเรื่อง การลดระยะเวลาในการผลิตให้น้อยลง และชิ้นส่วนเศษไม้ ปีกไม้ ที่เหลือจากการแปรรูปแล้ว ทางศูนย์การถ่ายทอดฯ นำมาอัดประสานแบบนิ้วมือ (Finger Joint) เพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เป็นการนำไม้มาใช้ให้เกิดความคุ้มค่าและได้ประโยชน์สูงสุด สร้างมูลค่าเพิ่มแบบครบวงจร ทั้งนี้ ศูนย์การถ่ายทอดฯ ของ อ.อ.ป. ได้เปิดให้นักศึกษา ประชาชนที่สนใจ ช่างฝีมืองานไม้ ผู้ประกอบการ และสหกรณ์ผลิตภัณฑ์ไม้ เข้ามาเรียนรู้และพัฒนาฝีมือแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 ราย และได้ให้บริการจำหน่ายไม้แปรรูปในการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ เครื่องเรือน และก่อสร้างบ้านเรือนแล้วไม่ต่ำกว่า 50,000 ลูกบาศก์ฟุต ซึ่งในขณะนี้ อ.อ.ป. พร้อมขยายกลุ่มเป้าหมายการฝึกอบรมไปยังกลุ่มชุมชนในพื้นที่ละแวกใกล้เคียงจังหวัดแพร่และตามภูมิภาคต่างๆ อีกทั้งได้ตั้งเป้าหมายในการผลิตและจัดจำหน่ายต่อปีให้ได้ 160,000 ลูกบาศก์ฟุต เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้ไม้สักจากป่าปลูก และพร้อมรองรับไม้สักจากป่าปลูกจากภาคเอกชนต่อไปอีกด้วย รองผู้อำนวยการฯกล่าว