ครั้งประวัติศาสตร์เวทีมหรสพดนตรีสากลน้อมนำพระราชดำรัสในหลวง ร.9 ร้อยเรียงผ่าน 84 บทเพลงพระราชนิพนธ์ ผู้เชี่ยวชาญเผยระดมนักดนตรี-นักร้อง-นักบัลเลต์ 989 คน ร่วมแสดงถวายความภักดี ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย นางสาวชนินทร์วดี ชมภูทิพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์สากล สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กล่าวว่า การแสดงมหรสพสมโภชเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประกอบด้วย 3 เวที คือ เวทีที่ 1 การแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระ และโขน เรื่องรามเกียรติ์ เวทีที่ 2 การแสดงละคร หุ่นหลวง หุ่นกระบอก และเวทีที่ 3 การบรรเลงดนตรีสากล และการแสดงบัลเลต์ เป็นการบรรเลงดนตรีสากล ชุด “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” ประกอบด้วยการบรรเลงและขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ ในหลวง รัชกาลที่ 9 จำนวน 84 บทเพลง และบทเพลงที่สื่อความหมายสอดคล้องกับการแสดงแต่ละองก์ 7 องก์ รวมถึงบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อถวายอาลัย ใช้ผู้บรรเลง ผู้ขับร้อง และผู้แสดง รวมทั้งสิ้น 989 คน โดยวงดนตรีสากลที่บรรเลงมี 2 ลักษณะ คือ วงออร์เคสตร้าและวงหัสดนตรีหรือวงบิ๊กแบนด์ การแสดง 7 องก์ ได้น้อมนำพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสอันเป็นมงคลที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแก่ชาวไทยมานำเสนอผ่านเพลงพระราชนิพนธ์ในการแสดงแต่ละองก์ ประกอบด้วย องก์ที่ 1 ดุจหยาดทิพย์ชโลมหล้า อัญเชิญพระราชดำรัสเกี่ยวกับความเจริญผาสุกและความตั้งมั่นของบ้านเมือง ประชาชนในชาติมีความเป็นอยู่ที่ดี ปราศจากทุกข์ มีเพลงพระราชนิพนธ์แผ่นดินของเรา ,Alexandra , ไร้จันทร์, ไร้เดือน, No Moon และการแสดงบัลเลต์เรื่อง “มโนห์รา” หรือ “KINARI SUITE” ประกอบด้วยเพลงพระราชนิพนธ์ในหลวง ร.9 จำนวน 5 บทเพลง เป็นดนตรีแห่งความสุข วงบรรเลงประกอบด้วยวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร ร่วมด้วยนักดนตรีรับเชิญจากสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และวิทยาลัยนาฏศิลป ศิลปินรับเชิญจากวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ อาทิ อาจารย์นนท์ บูรณสมภพ, อาจารย์สันทัด ตัณฑนันทน์, อาจารย์ถาวร เยาวขันธ์, อาจารย์สุวิทย์ อังศวานนท์ และวงสหายพัฒนา โรงเรียนราชินี และวงรอยัลบางกอกซิมโฟนี (RBSO) องก์ที่ 2 ใต้ฟ้าร่มเย็น เพราะพระบารมี น้อมนำพระราชดำรัสฯ เกี่ยวกับการส่งเสริมให้คนดีปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ เลือกเพลงพระราชนิพนธ์ลักษณะเพลงมาร์ชสอดคล้องกับวงบรรเลง คือวงดุริยางค์จากกรมดุริยางค์ทหารบก เช่น ธงไชยเฉลิมพล, มาร์ชราชวัลลภ, เรา-เหล่าราบ 21, เราสู้, เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย ฯลฯ องก์ที่ 3 ทวยราษฎร์น้อมสดุดี น้อมนำพระราชดำรัสฯ เรื่องความเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรมจะสร้างสรรค์ความดีงามให้เกิดขึ้นทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์มาร์ชราชนาวิกโยธิน, ไกลกังวล, When, ความฝันอันสูงสุด, เกาะในฝัน, ยามเย็น ฯลฯ บรรเลงโดยวงดุริยางค์จากกองดุริยางค์ทหารเรือ องก์ที่ 4 ถวายภักดีองค์ราชัน อัญเชิญพระราชดำรัสฯ เรื่องหน้าที่ของทุกคน ที่ต้องร่วมมือกันดำรงรักษาชาติบ้านเมือง มีเพลงพระราชนิพนธ์สายฝน, สายลม, อาทิตย์อับแสง, เทวาพาคู่ฝัน ฯลฯ บรรเลงโดยกองดุริยางค์ทหารอากาศ องก์ที่ 5 สถิตนิรันดร์ในใจราษฎร์ น้อมนำพระราชดำรัสฯ คุณธรรม 4 ประการ คือ ความซื่อสัตย์ การรู้จักข่มใจ การอดทน อดกลั้น อดออม และการรู้จักละวางความชั่ว มีบทเพลงยิ้มสู้, แสงเทียน, ในดวงใจนิรันดร์, ยามค่ำ, Twilight, ชะตาชีวิต, H.M. Blues ฯลฯ บรรเลงโดยวงดนตรีสากลจากกองสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รูปแบบการบรรเลงดนตรีจะต่างจากองก์อื่นๆ เพราะลักษณะเป็นวงบิ๊กแบนด์ผสมผสานวงเครื่องสาย(String) องก์ที่ 6 ปวงข้าบาทบังคมถวาย น้อมนำพระราชดำรัสฯ เกี่ยวกับการทำงานด้วยความตั้งใจจะเกิดผลอันยิ่งใหญ่ คือ ความเป็นปึกแผ่นของประเทศชาติ มีบทเพลงพระมหามงคล, พรปีใหม่, ใกล้รุ่ง, แว่ว, Old Fashioned Melody ฯลฯ บรรเลงโดยวงดนตรีสากลจากกรมประชาสัมพันธ์ เน้นเครื่องเป่า ลักษณะเป็นวงบิ๊กแบนด์เช่นกัน องก์ที่ 7 ธ สู่สวรรคาลัยในทิพย์วิมาน จะมีบทถวายอาลัย ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาคัดเลือกบทที่ไพเราะงดงามและสื่ออารมณ์ความรู้สึกความผูกพันที่มีต่อในหลวง ร.9 จากนั้นจะบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ที่ทรงพระราชทานแก่สถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งจุฬาลงกรณ์, ธรรมศาสตร์, เกษตรศาสตร์ ฯลฯ บรรเลงโดย วง C.U. Band แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ละองก์กำหนดเวลาแสดง 60 นาที ใช้บทเพลง 12 – 15 บทเพลงต่อองก์ “บทเพลงพระราชนิพนธ์ที่อัญเชิญมาบรรเลงใน 7 องก์ นอกจากเพลงที่คุ้นหูแล้ว ยังมีหลายบทเพลงไม่ได้เผยแพร่ทั่วไป ประชาชนยังไม่เคยได้ฟัง อย่างเช่นบทเพลง Blue for Uthit ทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานให้แก่นักดนตรีวง อ.ส.วันศุกร์ ที่เสียชีวิต นอกจากนี้ ยังมีบทเพลงที่หลากหลาย เรียบเรียงเสียงประสานให้สอดคล้องกับแนวดนตรีของแต่ละวง ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งของชาติที่อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหมดของในหลวง ร.9 มาบรรเลงในงานมหรสพสมโภชครั้งนี้ แต่ละองก์ใช้ผู้บรรเลง 89 คนของแต่ละวงดนตรี เฉพาะในองก์ที่ 1 จะมีคณะนักร้องประสานเสียงอีก 89 คน รวมถึงนักแสดงบัลเลต์ 89 คน ซึ่งตัวเลข 89 นี้ สื่อถึงพระชนมพรรษาของพระองค์ท่าน สำหรับเวทีที่ 3 หัวใจของทุกคนมาเต็มร้อย ทุกวงดนตรีตั้งใจถวายงานอย่างเต็มที่เพื่อพระองค์ท่าน ทั้งข้าราชการ ตำรวจ ทหาร พลเรือน นักเรียน นักศึกษา ขณะนี้แต่ละวงได้เตรียมการซ้อมแยกในที่ตั้งหน่วยงานของตน จากนั้นกลางเดือนกันยายนจะฝึกซ้อมร่วมกันที่โรงละครแห่งชาติ เพื่อคำนวณเวลาการเปลี่ยนวง ตรวจสอบระบบเสียงและผู้แสดงก่อนเข้าพื้นที่จริงท้องสนามหลวงเดือนตุลาคมนี้” นางสาวชนินทร์วดี กล่าว ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์สากล กล่าวด้วยว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาดนตรีตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงสะสมเงินออมเพื่อซื้อเครื่องดนตรีเก่ามาฝึก ไม่ได้ซื้อของใหม่ เป็นความพอเพียงของพระองค์ อีกทั้งทรงมีความเพียรฝึกฝนดนตรีแจ๊สที่ทรงโปรด ออมเงินซื้อแผ่นเสียงมาฟังและฝึกฝน โดยศึกษาเจาะลึกรายละเอียดและปฏิบัติอย่างถ่องแท้ ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านดนตรี พระราชทานแนวพระราชดำริเหล่านี้ไว้เป็นแนวทางให้กับนักดนตรีไทย นอกจากนี้ ในหลวง ร.9 ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาด้านดนตรี ทรงโปรดเกล้าให้พระเจนดุริยางค์จัดพิมพ์ตำราโน้ตดนตรีสากล หลักการขับร้อง ประสานเสียง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ แฟ้มภาพ การแสดงตัวอย่างเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 โรงละครแห่งชาติ