ปิดฉากลงแล้วอย่างงดงาม สำหรับการแข่งขัน “เคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ” ครั้งที่ 49 หรือ 49th IChO ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-15 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ในวาระสำคัญเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ศาตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ผู้ทรงเป็น “เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์” ของชาวไทย เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชันษา 60 ปี ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถ ด้านงานวิจัยในฐานะศาสตราจารย์ด้านเคมีและพิษวิทยา จนได้รับการถวายรางวัลต่างๆ ในระดับนานาชาติ ที่สำคัญการจัดงานครั้งนี้ ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการแข่งขัน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 ท่ามกลางความประทับใจของผู้เข้าแข่งขัน พี่เลี้ยง อาจารย์ คณะกรรมการเคมีโอลิมปิก และผู้สังเกตการณ์อีกจากเกือบ 80 ประเทศทั่วโลก รวมกว่า 600 คน ที่เดินทางมาเข้าร่วมมหกรรมการแข่งขันทางวิชาการอันยิ่งใหญ่ระดับโลกครั้งนี้ ศาตราจารย์คลินิก นพ. อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในนามของประธานในพิธีปิดการแข่งขันฯ ได้กล่าวว่า คณะกรรมการจัดงานที่มาจากหลายองค์กรของประเทศ มีความปลื้มปิติ และภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่สามารถปฏิบัติภารกิจในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขัน “เคมีโอลิมปิก” ครั้งนี้ได้สำเร็จลุล่วง ด้วยความราบรื่น และเป็นที่ประทับใจในศักยภาพมาตรฐานทางวิชาการของประเทศ สมดังวัตถุประสงค์ ของการจัดงานระดับโลกนี้ขึ้น เพื่อถวายพระเกียรติยศแด่ "เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์" สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล ขอขอบคุณความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตรทุกแห่ง ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ, สถาบัน ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและการพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.), สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการต่างประเทศ อาจารย์ บุคลากร นักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มาช่วยและมีส่วนร่วมจัดกิจกรรม รวมทั้งภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนการจัดงาน และสื่อมวลชนทุกแขนง ตลอด 10 วันของการจัดแข่งขัน ไม่ได้มีเพียงแค่กิจกรรมการทดสอบความรู้ทางภาคทฤษฎี และในห้องปฏิบัติการเท่านั้น แต่คณะผู้จัดงานยังได้จัดกิจกรรมเสริมอื่นๆ เพื่อส่งเสริมมิตรภาพและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเยาวชนที่มีความหลากหลายในเชื้อชาติศาสนา มุ่งเสริมสร้างประสบการณ์ มุมมอง และทัศนคติที่ดี เรียนรู้เข้าใจในความแตกต่างที่หลากหลาย มีการนำเสนอกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึง รากฐานทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาติไทย ให้กับผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ผ่านกิจกรรมสันทนาการและทัศนศึกษาในสถานที่ต่างๆ อาทิ พระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม, พระบรมมหาราชวัง เกาะรัตนโกสินทร์, เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ และ ตลาดน้ำดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เป็นต้น ในวันที่ทุกคนรอคอยถึงผลการแข่งขัน ที่เปรียบเสมือนตัวชี้วัดหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพทางเคมีของเยาวชนทั่วโลกก็มาถึง ในพิธีปิดการแข่งขัน ซึ่งมีขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล คณะกรรมการด้านวิชาการได้รวบรวมคะแนนจากผลการแข่งขัน และได้ประกาศรายชื่อนักเรียนผู้แทนประเทศที่ได้รับรางวัล ดังนี้ ประเภทคะแนนรวมสูงสุด ได้แก่ อันดับที่ 1 Alexander Zhigalin จากประเทศรัสเซีย อันดับที่ 2 Yuan-Chen Yeh จากประเทศไต้หวัน อันดับที่ 3 Amirabbas Kazeminia จากประเทศอิหร่าน ประเภทคะแนนสูงสุดภาคทฤษฎี ได้แก่ 1. Alexander Zhigalin จากประเทศรัสเซีย 2. - Zhiyuan Zhang จากประเทศสิงคโปร์ 3. - Amirabbas Kazeminia จากประเทศอีหร่าน ประเภทคะแนนสูงสุดภาคปฏิบัติ ได้แก่ 1.Ilija Srpak จากประเทศโครเอเชีย 2. Yuan-Chen Yeh จากประเทศไต้หวัน ในการแข่งขันครั้งนี้ มีเด็กไทยที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง 2 คน คือ 1. นายวริศ จันทรานุวัฒน์ 2.นายปภาภัทร์ ดิสนีเวทย์ ได้รับเหรียญเงิน 2 คน คือ 1.นายบวรทัต บุญรักษ์ 2.นางสาวอภิสรา กวียานันท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต่ออีกว่า ประเทศไทยมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในจารึกประวัติศาสตร์ ของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน “เคมีโอลิมปิก” ครั้งที่ 49 ที่เพิ่งสิ้นสุดไปครั้งนี้ ถือว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ของการเจ้าภาพ ที่สร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมมหกรรมโอลิมปิกวิชาการครั้งนี้ จนได้รับเสียงชื่นชมทั้งในเรื่องของการจัดงานที่มีมาตรฐานสากล และการต้อนรับที่อบอุ่นมีน้ำใจไมตรีมีเอกลักษณ์เฉพาะของชาวไทย ขณะที่ในเชิงวิชาการประเทศไทยก็สามารถพิสูจน์ให้นานาชาติได้เห็นอีกครั้ง ถึงมาตรฐานการศึกษาวิทยาศาสตร์ของประเทศ รวมถึงความรู้ความสามารถของเด็กไทยเอง และที่สำคัญ ยังเป็นการส่งเสริมบรรยากาศทางวิชาการให้ครู นักเรียน สถานบันการศึกษาทั่วประเทศ และองค์กรที่สำคัญของเอกชน ได้หันมาสนใจการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์กันอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นอนาคตของชาติ รวมถึงนำไปสู่ความมุ่งมั่นในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาคิดค้นนวัตกรรม องค์ความรู้ และงานวิจัย ที่จะนำมาพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน เหนือสิ่งอื่นใด นั่นคือ “มิตรภาพ” ที่เยาวชนจากทั่วโลกได้มอบให้แก่กันในสนามแข่งขันครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือทางวิชาการ ที่อาจทำให้เกิด “ก้าวกระโดด” ครั้งสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ของโลกในอนาคต ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ของเยาวชนในการเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพได้เช่นกัน