วารินทร์ พรหมคุณ นายกฯ นั่งหัวโต๊ะประชุม ซูเปอร์บอร์ดการศึกษา หนุนอี-เลิร์นนิ่ง..นำเรียนรู้ตลอดชีวิต หลังจากแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี(พ.ศ.2560-2579) ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นการวางกรอบเป้าหมายและทิศทางการจัดการศึกษาของประเทศในการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของคนไทยในทุกช่วงวัยให้เต็มตามศักยภาพ สามารถแสวงหาความรู้และเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต อย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21 ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ค.2560 ที่ผ่านมา ถือเป็นนัดแรกของปี ที่มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษาหรือซูเปอร์บอร์ดการศึกษา ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน, พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการนำโดยนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ, พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ นพ.กำจร ตติกวี นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ปลัดกระทรวงแรงงาน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมด้วยผู้บริหารทั้ง 5 องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ. ได้กล่าวถึงการประชุมฯ นัดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดถึงการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งทราบว่า ศธ.ได้วางแนวทางให้เรียน 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งอยากให้มีการยืดหยุ่นตามระดับชั้น ดูถึงความพร้อมของโรงเรียนและครูผู้สอนเป็นหลัก ส่วนเรื่องของสะเต็มศึกษา (STEM) อยากให้นำวิชาภูมิศาสตร์ เข้ามาเรียนควบคู่กันไปด้วย แต่ก็ให้ข้อสังเกตว่าบุคลากรต้องมีความพร้อมถึงจะสอนได้ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่าจะสอนจะพัฒนาเรื่องอะไรต้องดูความพร้อมของครูเป็นหลัก นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้พูดถึงเรื่องการประเมินว่า ศธ.ได้มีการประเมินแบบนำเอาข้อสอบอัตนัยเข้ามา ซึ่งนายกฯ ย้ำว่าเรื่องการประเมินต้องมีการประเมินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการประเมินที่ใช้ข้อเขียนหรืออัตนัย และการประเมินแบบปากเปล่า จะช่วยพัฒนาเด็กให้ได้คิด ได้เขียนและได้พูด เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ด้วย "ท่านนายกฯ ยังพูดถึงการทำงานของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) ซึ่งมีความห่วงใย เรื่องคณะกรรมการที่จะเข้ามาเป็นบอร์ดจะต้องเลือกคนดี มีความเหมาะสม และทิศทางในการทำงานของรัฐบาลต่อไปจะต้องมีจังหวัดเป็นฐาน ตามด้วยการทำงานเป็นภาค ซึ่งท่านนายกฯ ให้ไปดูว่า 18 ภาคของ ศธ. กับ 18 เขตตรวจของกระทรวงมหาดไทย (มท.) เหมือนกันหรือไม่ จะมีการปรับแบบไหนถึงจะรองรับ 6 ภาคใหม่ของประเทศ (ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน) และสิ่งที่จะทำต่อจากนี้ คือการจัดกลุ่มให้สอดคล้องกันตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งท่านนายกฯ ย้ำว่าเพื่อจะได้พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ การจัดการศึกษาต่อไปจะเชื่อมโยงกันจาก 1.จังหวัดเป็นฐาน 2.กลุ่มจังหวัดเป็นฐาน และสุดท้าย 6 ภาคเป็นฐาน เชื่อมต่อเนื่องกันทำงานบูรณาการร่วมกัน โดย ศธ.ต้องทำงานบูรณาการกับมหาดไทย อย่างใกล้ชิดโดยใช้ 3 ฐานเป็นหลัก" ปลัด ศธ.กล่าวและว่า ประเด็นน่าสนใจที่ท่านนายกฯ พูดถึงเรื่อง e-learning การเรียนรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ อยากให้มีการส่งเสริมเรื่อง e-learning ในทุกระดับ และให้เน้นพิเศษคือ e-learning เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นการต่อยอดการเรียนรู้ของประชาชน ซึ่งท่านนายกฯ ย้ำว่าจะต้องไปพัฒนาต่อยอดของคนของสำนักงาน กศน. การพัฒนาครูและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับเรื่อง e-learning สำหรับประชาชนที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต ในประเด็นนี้ นพ.ธีระเกียรติ ได้นำเสนอว่าจะนำมาเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานปลัด ศธ. ที่มีอยู่ อย่างไรก็ตามในช่วงเปลี่ยนผ่าน ท่านนายกฯห่วงว่าครูที่เรียนรู้เรื่องนี้จะไม่เพียงพอ โดยเฉพาะครู กศน. ในเรื่องนี้ รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้เสนอให้มี "ผู้ช่วยครู" ที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ ความเข้าใจสามารถเข้ามาช่วยทำควบคู่กันไปกับการอบรม และยังย้ำว่าจะต้องนำระบบ e-learningมาพัฒนาเด็ก พัฒนาครู และพัฒนาประชาชน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปสามารถแสวงหาความรู้ใช้ประโยชน์เพื่อชีวิตของตัวเองได้ ในการประชุมซูเปอร์บอร์ดการศึกษา ครั้งนี้ ท่านนายกฯ ยังปรารภถึงบรรยากาศการเรียนหนังสือในห้องเรียนปัจจุบัน ว่าเวลาครูสอนหน้าห้องเรียน เขียนบนกระดานดำ แต่ปรากฏว่านักเรียนของเราจำนวนมาก มีโทรศัพท์มือถือ เวลาครูสอน นักเรียนก็เอาโทรศัพท์มือถือมาถ่ายรูปไว้ บางคนก็บันทึกเทป และอ่านหรือไม่อ่านจะนำไปใช้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ไม่ค่อยมีแล้วที่จะมีจดสรุปยอดความคิด ซึ่งจริง ๆ แล้วอยากให้เด็กๆ ได้ฟังครูสอน คิดตาม ทำความเข้าใจแล้วจดบันทึกด้วยตนเอง ซึ่งเรื่องนี้จะกำชับไปยังโรงเรียน ให้เข้มงวดในการใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะที่จริงแล้วโรงเรียนก็ไม่ได้อนุญาตให้นำเข้าห้องเรียน ถ้าเอามาก็ปิดโทรศัพท์ในเวลาเรียน ให้ใช้เฉพาะมีความจำเป็นที่ติดต่อผู้ปกครอง หรือให้ใช้ในช่วงที่ไม่ได้เรียนเท่านั้น"ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวทิ้งท้าย