“Funny Clean”ผลงานนร.วก.อูทอง นวัตกรรมสนองแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง (1) “...งานทุกอย่างมีบุคคลซึ่งมีชีวิตจิตใจ มีความนึกคิดเป็นผู้กระทำ ถ้าผู้ทำมีจิตใจไม่พร้อมจะทำงานเช่น ไม่ศรัทธาในงาน ไม่สนใจผูกพันกับงาน ผลงานที่ทำก็ย่อมบกพร่อง ไม่คงที่ ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติมีศรัทธา เข้าใจซึ้งถึงประโยชน์ของงาน พร้อมใจและพอใจที่จะขวนขวายปฏิบัติงานโดยเต็มกำลังความสามารถ งานจึงจะดำเนินไปได้โดยราบรื่น และบรรลุผลตามที่มุ่งหมาย...” พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10กรกฎาคม 2536 มีโอกาสไปพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เฉพาะตัวจังหวัดสุพรรณฯไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครนัก แต่พื้นที่อำเภออู่ทองทำไมจึงรู้สึกว่ากว่าจะถึงไกลเอาการทีเดียว ย่านสุพรรณบุรีนั้นมีประวัติศาสตร์อันสำคัญที่เรียกกันว่าสุวรรณภูมิ ประวัติศาสตร์การศึกษาสงครามสยามกับประเทศเพื่อนบ้านครั้งสำคัญสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ปรากฏหลักฐานสำคัญอยู่ที่เมืองสุพรรณฯวรรณคดีไทยเลื่องชื่ออย่างขุนช้างขุนแผน ทั้งภูมิประเทศ ตัวละครสำคัญก็ปรากฏอยู่ที่สุพรรณฯ ลองเปิดข้อมูลดูเมืองอู่ทองปรากฏว่าเป็นเมืองโบราณ ตั้งอยู่ในเขตอำเภออู่ทองจังหวัดสุพรรณบุรี    เป็นเมืองที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ ผังเมืองเป็นรูปวงรีทอดตัวตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้  มีขนาดความกว้างประมาณ 1 กิโลเมตร  และยาวประมาณ 2 กิโลเมตร  มีระดับความสูงของพื้นที่ตัวเมือง จากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 6 เมตร จากการศึกษาทางโบราณคดี  พบว่า  เมืองโบราณอู่ทองมีมนุษย์อยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ  3,500  ปี  มาแล้ว  บริเวณที่พบชุมชนกระจายเกือบทุกตำบลในอำเภออู่ทอง  เช่น  ตำบลอู่ทอง       จรเข้สามพัน   เจดีย์  ดอนคา  ดอนมะเกลือ  เป็นต้น  นอกจากนี้ยังพบสุลานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีพื้นที่กว้างขวางที่สุด  ที่บ้านวังขอน  บ้านทุ่งน้อย   ตำบลจรเข้สามพันพบโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์      นวัตกรรมหนึ่งของวิทยาลัยการอาชีพอูทอง จังหวัดสุพรรณบุรีสืบสานพระราชปณิธานน้อมนำหลักการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาเป็นเครื่องมือในการนำพาสู่ผลสำเร็จนั่นคือ “อุปกรณ์ช่วยเก็บขยะ”ที่อยากจะขอเรียกง่ายๆว่า “ไม้ช่วยเก็บขยะ”หรือภาษาอังกฤษวิทยาลัยตั้งชื่อว่า “Funny Clean” เป็นผลพวงอันเกิดจากโครงการหารายได้ระหว่างเรียนที่วิทยาลัยให้นักเรียนนักศึกษาได้ใช้ความรู้ความสามารถทักษะที่เรียนมา ผสมผสานกับการหล่อหลอมปลูกฝังการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อติดเป็นอุปนิสัยหลังเรียนจบแล้วได้ไปสร้างฐานะครอบครัวร่วมเป็นกำลังคนดีของสังคมด้วยการคิดประดิษฐ์นวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงจนนำไปสู่การเกิดรายได้ เป็นการปลูกฝังการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ทำสิ่งดีงาม ปลูกฝังความเพียรความอดทน รู้จักทำงานร่วมกับคนอื่นร่วมมือร่วมใจกันพึ่งพากัน รักเมตตากัน อันเป็นรูปแบบวิถีของคนดีสืบสานพระราชปณิธาน ประโยชน์ที่เกิดขึ้นคือนักเรียนนักศึกษาทำให้มีรายได้ระหว่างเรียน มีทักษะที่เชี่ยวชาญมั่นคงในสายวิชาชีพที่เรียน นวัตกรรมนั้นสามารถยึดเป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพหลักได้ในอนาคต และที่สำคัญสังคมได้ประโยชน์จากนวัตกรรมนั้นอย่างคุ้มค่าแท้จริง ผู้บริหารรวมถึงอาจารย์นักเรียนนักศึกษาที่สร้างนวัตกรรมนี้ขึ้นมาบอกอย่างภูมิใจว่าผลสำเร็จอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมนี้เกิดจากการน้อมนำแนวพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้หลายโอกาสว่าให้รู้จักใช้วัสดุทรัพยากรที่มีอยู่ใกล้ตัว ในท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วที่อาจหมดประโยชน์ในทางหนึ่งเอามาพัฒนาใช้ประโยชน์ในอีกมิติหนึ่ง เป็นการพัฒนาเพิ่มมูลค่าเป็นนวัตกรรมใหม่ด้วยการลงทุนน้อย ประโยชน์มาก ที่สำคัญเป็นนวัตกรรมไทยที่ต่อยอดมาจากภูมิปัญญาเดิมเป็นแรงกระตุ้นช่วยให้ซึมซับการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดี ช่วยรักษาความสะอาด “…คนเราที่ฟุ้งเฟ้อ ไม่มีทางที่จะหาทรัพย์มาป้อนความฟุ้งเฟ้อได้ ความฟุ้งเฟ้อนี้เป็นปากหรือสัตว์ที่หิวไม่หยุด ความฟุ้งเฟ้อนี้อ้าปากตลอดเวลา จะป้อนไปเท่าไรๆ ก็ไม่พอ เมื่อป้อนเท่าไรๆ ก็ไม่พอแล้ว ก็หาเท่าไรๆ ก๋ไม่พอ ความไม่พอนี้ไม่สามารถที่จะหาอะไรมาป้อนความฟุ้งเฟ้อนี้ได้ ฉะนั้นถ้าจะต่อต้านความเดือดร้อน ไม่ใช่ว่าจะต้องประหยัดมัธยัสถ์ จะต้องป้องกันความฟุ้งเฟ้อและป้องกันวิธีการที่มักจะใช้เพื่อที่จะมาป้อนความฟุ้งเฟ้อนี้คือ ความสุจริต ฉะนั้นการที่จะรณรงค์ที่จะต่อสู้เพื่อให้คนมัธยัสถ์และประหยัดนั้นก็อยู่ที่ตัวเอง ไม่ใช่อยู่ที่คนอื่น เมื่ออยู่ที่ตนเองไม่อยู่ที่คนอื่น การรณรงค์โดยมากมักออกไปข้างนอก จะไปชักชวนคนโน้นชักชวนคนอื่นนี้ให้ทำโน่นทำนี่ ที่จริงต้องทำเอง ถ้าจะใช้คำว่ารณรงค์ก็ต้องรณรงค์กับตัวเอง ต้องฝึกตัวให้รู้จักความพอดี พอเหมาะ ถ้าไม่พอดี ไม่พอเหมาะมันจะเกิดทุจริตในใจได้…” ความตอนหนึ่งแห่งพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานปี พ.ศ.2527 แก่คณะลูกเสือชาวบ้าน ในโอกาสเสด็จฯกลับจากการแปรพระราชฐานจังหวัดสกลนคร ดร.วีระ ทองประสิทธิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพอูทองบอกว่า นวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ที่กลายเป็นชิ้นงานของวิทยาลัยคืออุปกรณ์ช่วยเก็บขยะ ตั้งชื่อภาษาอังกฤษว่า“Funny Clean” ผลงานของอาจารย์และนักเรียนนักศึกษาสาขาไฟฟ้ากำลังกลุ่มหนึ่ง เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนนอกหลักสูตรแต่นำเอาเนื้อหาวิชาโครงการจากสาขาการไฟฟ้ามาใช้เป็นองค์ประกอบเช่นวิชาเรียนเรื่องแม่เหล็กนำมาประยุกต์ใช้กับนวัตกรรมเพื่อต่อยอดตัวเครื่องมือดั้งเดิมที่เป็นภูมิปัญญาโดยแรงบันดาลใจมาจากการที่วิทยาลัยได้เน้นย้ำให้นักเรียนนักศึกษาเห็นการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงงานอย่างหนัก ทรงอดทน ทรงมีความเพียรและงานที่ทรงทำนั้นมีความสำเร็จลุล่วงเป็นแบบอย่างให้ประชาชนคนไทยน้อมนำเอาไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตจนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้น “หัวใจสำคัญที่นำไปต่อยอดจนเกิดนวัตกรรมขึ้นมาด้วยทางวิทยาลัยมีโครงการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่อหารายได้ระหว่างเรียนหลังจากที่นักเรียนนักศึกษาเกิแนวคิดที่จะสร้างนวัตกรรมเพราะเห็นของเดิมที่ใช้กันอยู่ทำประโยชน์ได้น้อย เกิดแนวคิดพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ โดยนำเอาวัสดุที่มีอยู่ใกล้ๆตัวในท้องที่ และหลายอย่างคนทั่วไปไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ทิ้งแล้วเอามาประยุกต์ใช้กับนวัตกรรมนี้ได้ อันนี้เกิดจากการปลูกฝังเน้นย้ำหลักการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริเลย อาจารย์กับนักเรียนนักศึกษารวมหัวปรึกษากันแล้วลงความเห็นร่วมกันว่าพัฒนานวัตกรรมใหม่ขึ้นมาได้ โดยมุ่งประโยชน์กับผู้ใช้เป็นที่ตั้ง เอาไปใช้ได้จริงใช้ประโยชน์ได้อย่างรอบด้านแก้ปัญหาที่เคยมีมาได้ด้วย”