ไอเดียเจ๋ง! ผู้ประกอบการรังนกแห่สั่ง “เครื่องร่อนขน และตะกอน รังนกอีแอ่น” 20 เครื่องมูลค่าล้านบาท ผลงานวิทยาลัยเทคนิคสตูล โชว์ในงานประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษา –เอสโซ่ ระดับอาชีวศึกษาจังหวัด และระดับภาคใต้ 17-19 ก.ค.2560 นี้ วันที่ 17 ก.ค.60 วิทยาลัยเทคนิคสตูล ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล ได้มีการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษา –เอสโซ่ ระดับอาชีวศึกษาจังหวัด และระดับภาคใต้ โดยมีอาชีวศึกษาทั่วภาคใต้ส่งโครงงานเข้าประกวดมากกว่า 86 โครงงาน ซึ่งหนึ่งในนั้น มีโครงงานวิทยาศาสตร์ “การสร้างและหาประสิทธิ์ภาพของอุปกรณ์ร่อนขน และตะกอนในรังนกอีแอ่น” ซึ่งจัดทำโดยนักศึกษาระดับ ปวส. 3 คน คือ นางสาวปาริชาติ อำไพ นางสาวปณิตา บินสะอาด และนายธีระวัฒน์ ทิพย์สมบัติ ภายใต้การควบคุมของครู ผู้สอน คือ คุณครูปิยะพงศ์ ชัยยะวิริยะ ของวิทยาลัยเทคนิคสตูลเข้าประกวดด้วย นางสาวปาริชาติ อำไพ นักศึกษา ระดับปวส.ได้อธิบายถึงแนวคิดค้นพัฒนา เกิดจากการผลิตเครื่องขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ ผู้ประกอบการรังนกอีแอ่น ที่พบว่า ขนนก และเศษขยะฝุ่นละอองจำนวนมาที่เกาะภายในรังนกทำให้มีความยุ่งยากในการทำความสะอาด รังนกจำนวน 1 รังทำให้ใช้เวลา นานกว่า 4 ชั่วโมงในการทำความสะอาดกว่าจะออกหมด ทำให้สูญเสียเวลา แรงงานจำนวนมากในการจ้างมาทำความสะอาด ปริมาณน้ำที่เยอะเกินไป จึงเป็นที่มาของการคิดค้น “เครื่องร่อนขนและตะกอนในรังนกอีแอ่น” จากการลองผิดลองถูก พร้อมทั้งได้งบประมาณส่วนหนึ่งจากผู้ประกอบการรังนกในพื้นที่ เยาวราชกรุงเทพมหานคร ในการพัฒนาเครื่องมาวันนี้เครื่องฯ สามารถร่อนขนและตะกอนในรังนกอีแอ่น ได้ภายใน 1 ชม.จำนวน 16 รัง และอนาคตตั้งเป้ารังนก 1 กิโลกรัมสามารถล้างทำความสะอาดเพียงใช้เวลา 15 นาทีให้ได้เพื่อเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการรังนกในภาคใต้ และภาคกลาง ครูปิยะพงศ์ ชัยยะวิริยะ วิทยาลัยเทคนิคสตูล กล่าวว่า จากงานสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ได้มีการคิดค้น และต่อยอดมาวันนี้ทำให้มีผู้ประกอบการตอบรับสั่งสินค้ามากับทางวิทยาลัยมากถึง 20 เครื่อง โดยมีจำหน่ายชุดเล็ก ทำความสะอาดได้ครั้งละ 8 รัง/1 ชม.ราคา35,000 บาท และชุดใหญ่ 16 รัง/ 1 ชม.ในราคา 55,000 บาท ทำให้ทางวิทยาลัยเทคนิคสตูลสามารถต่อยอดพัฒนาเครื่องนี้ต่อไปได้อีก ให้เป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการ และให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงรังนกมาบริโภคได้ง่าย หากต้นทุนของการล้างทำความสะอาดรังนกต่ำ ผู้บริโภคก็สามารถหันมาบริโภครังนกกันมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการหรือท่านใดสนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 081-969-9399 นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ ประธานในการเปิด การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษา –เอสโซ่ ระดับอาชีวศึกษาจังหวัด และระดับภาคใต้ ครั้งนี้เชื่อว่า การประกวดโครงงานเด่น ๆ ของแต่ละจังหวัดทั่วภาคใต้ จะช่วยให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีแรงผลักในการคิดค้นงานใหม่ ๆ ให้เห็นในเชิงประจักษ์ เมื่อมีการปฏิบัติจริง ดีกว่าการเน้นในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว เป็นการฝึกหัดฝีมือแรงงานป้อนสู่ตลาดแรงงานได้เป็นอย่างดี อยากให้รัฐบาลหันมาส่งเสริมรางวัล พัฒนาต่อยอดเข้าสู่ระดับอาชีพได้ เหมือนอย่างของวิทยาลัยเทคนิคสตูลที่ทำ “การสร้างและหาประสิทธิ์ภาพของอุปกรณ์ร่อนขน และตะกอนในรังนกอีแอ่น”จนมีออเดอร์สั่งซื้อเกือบร่วม 2 ล้านบาทแล้ว เป็นตัวอย่างของผลพวงการส่งเสริมในครั้งนี้ การโครงงานวิทยาศาสตร์ สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ อาชีวศึกษา –เอสโซ่ ระดับภาคใต้ ครั้งที่ 27 ปีการศึกษา 2560 ในครั้งนี้ระหว่างวันที่ 17-19 ก.ค.2560ที่วิทยาลัยเทคนิค อ.เมืองสตูล ในครั้งนี้ โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีวศึกษาภาคใต้ ร่วมกับอาชีวศึกษาจังหวัดสตูล มีวัตถุประสงค์เพื่อให้จะส่งเสริม สนับสนุน ให้นักเรียน นักศึกษา นำความรู้ จากการเรียนการสอน มาบูรณการเป็นโครงงานด้านวิทยาศาสตร์ ใช้ความรู้ ประสบการณ์ ความคิดและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ศึกษาค้นคว้า แก้ปัญหา ประดิษฐ์ชิ้นงานที่สนใจด้วยตนเอง ไปพร้อมฝึกทักษะ การนำเสนอผลงานทางวิชาการ สนองนโยบาย สนง.คณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อคัดเลือกโครงงานวิทยาศาสตร์ เป็นตัวแทนภาคใต้เข้าร่วมประกวดระดับชาติต่อไป