คณะกรรมการขับเคลื่อนประชารัฐ เตรียมลงพื้นที่ รร.ขนาดเล็ก ที่ดอยอ่างขาง"ศุภชัย เจียรวนนท์"เผยจัดโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เน็ต+ไอทีกว่า 3,300 โรงเรียนแล้ว แนะโรงเรียนควรมีกองทุนพัฒนา วันที่ 18 ก.ค.60 นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการอิสระฯ ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือประชารัฐ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินโครงการโรงเรียนประชารัฐ ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยพบว่ามีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ของประเทศ 12 บริษัทเข้าร่วมโครงการ โดยนำบุคลากรที่เป็นผู้นำรุ่นใหม่ มาช่วยถ่ายทอดประสบการณ์การบริหารจัดการ เพื่อปรับใช้ในการบริหารและพัฒนาโรงเรียน ซึ่งถือเป็นการทดลองระบบครั้งใหญ่ของประเทศ ที่จะนำไปเป็นรูปแบบในการปฏิรูปการศึกษาในอนาคต  ด้วยการสร้างความมีส่วนร่วมจากผู้ปกครอง ชุมชน และภาคธุรกิจในพื้นที่ โดยรัฐจะไม่เป็นผู้ให้แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ภาคสังคมต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่  "การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ จะเป็นการสร้างระบบการมีส่วนร่วม ซึ่งจะต้องเปลี่ยนแนวคิด ที่ว่ารัฐต้องเป็นผู้ให้ฝ่ายเดียว  โดยรัฐต้องสนับสนุนคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ส่วนที่คนที่มีกำลังก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือรัฐในการจัดการศึกษาให้มากขึ้น เพราะความเสมอภาคไม่ใช่ความเหมือนกัน และแต่ละคนก็มีความจำเป็นไม่เท่ากัน" นพ.จรัส กล่าวและว่า ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เชิญคณะกรรมการอิสระฯ เข้าพบ ซึ่งคณะกรรมการอิสระฯ คงยังไม่มีข้อเสนออะไร เพราะจะขอฟังนโยบายจากนายกฯ ก่อน ขณะเดียวในวันที่ 8-9 ส.ค.นี้ คณะกรรมการอิสระฯ จะลงพื้นที่ไปดูโรงเรียนขนาดเล็ก พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากชุมชน ที่ดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นการยืนยันว่า คณะกรรมการอิสระฯ ไม่ได้นั่งแก้ปัญหาแต่ในห้องแอร์ ด้าน นายศุภชัย กล่าวว่า ภาคเอกชนได้เข้าไปวางโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบอินเตอร์เน็ต ไอซีทีรวมถึงองอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ถึง 40,000 กว่าห้องเรียน ใน 3,300 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนประชารัฐแล้ว ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่า เรื่องสำคัญที่ต้องทำให้เกิดความต่อเนื่อง คือ การจัดทำข้อมูลนักเรียน ข้อมูลสถานศึกษา และการมีส่วนร่วมผู้ปกครอง ชุมชน ผู้นำชุมชน ตลอดจนการจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจ และปัญหาของชุมชน ที่ต้องเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้วย "การขับเคลื่อนให้โรงเรียนประชารัฐประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ต้องทำให้เกิดกลไกการตลาด คือ ให้ทุกคนมองเห็นความสำคัญของการศึกษาของลูกหลานทำให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการศึกษาอย่างแท้จริง ต้องให้โรงเรียนมีกองทุนและคณะกรรมการบริหารกองทุน ที่มีกรรมการโรงเรียนเป็นตัวกลางในการบริหารจัดการอย่างโปร่งใส ส่วนการจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้นนั้น เรื่องของมาตรการภาษีมีส่วนช่วยได้ โดยขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังพิจารณา อัตราลดหย่อนภาษีให้แก่ภาคเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือด้านจัดการศึกษา จากเดิม 10% ของกำไรสุทธิ เป็น 15-17% อย่างไรก็ตาม ผมไม่อยากให้มองในเรื่องของผลตอบแทนเป็นสำคัญ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของจิตอาสาที่ทุกคนอยากเข้ามามีส่วนในการแก้ไขปัญหาขอชาติมากกว่า"นายศุภชัย กล่าว