เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 19 ก.ค.ที่ศาลอาญารัชดา นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงชี้แจงข้อเท็จจริง กรณี การตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น นายศิริชัย วัฒนโยธิน ก่อนที่จะยืนลาออกจากประธานศาลอุทธรณ์ และกรณีการกำหนดตำแหน่งใหม่ “ที่ปรึกษาประธานศาลฏีกา” ว่ากรณีที่นายศิริชัย ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา ระบุไม่ได้รับความเป็นธรรม ในการเสนอความเห็นของคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) ต่อการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฏีกานั้น ยืนยันว่าเป็นไปตาม ข้อบังคับการประชุมและระเบียบคณะกรรมการศาลยุติธรรม ว่าด้วยองค์ประกอบ หลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง และวิธีดำเนินงานของคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2554 ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของ อ.ก.ต. เป็นการประชุมโดยอิสระ เช่น การอภิปราย แสดงความคิดเห็นการออกเสียงลงคะแนน และตีความ ซึ่ง อ.ก.ต. ได้แสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความเหมาะสมของนายศิริชัย ในด้านการบริหารจัดการสำนวนคดี “อ.ก.ต.ได้ให้โอกาสนายศิริชัยชี้แจงถ้อยคำถึง 2 ครั้ง ตลอดจนยังได้ให้โอกาสนายศิริชัยเสนอพยานบุคคลและพยานหลักฐานต่าง ๆที่เกี่ยวข้องจนสิ้นกระแสความ ไม่ได้เป็นการรวบรัด ซึ่งที่ประชุมออกเสียงลงคะแนนด้วยมติเสียงข้างมากถึง 19 ต่อ 1 ของจำนวนอนุกรรมการที่มาประชุม เห็นว่านายศิริชัยไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา” ส่วนประเด็นการพิจารณาลงมติของ ก.ต.นั้น ไม่สามารถทบทวนมติได้ ซึ่งใน ก.ต.ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ,ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิอีกจำนวน 12 คน ซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการในชั้นศาลฎีกาจำนวน 6 คน ชั้นศาลอุทธรณ์ จำนวน 4 คน และชั้นศาลชั้นต้นจำนวน 2 คน รวมทั้ง ก.ต. จากวุฒิสภาเลือกอีก 2 คน ซึ่งบุคคลดังกล่าวล้วนเป็นผู้ทรงเกียรติและดำรงตำแหน่งสำคัญ ไม่มีบุคคลใดที่จะมาแทรกแซงได้ และการลงมติของ ก.ต.กระทำโดยเปิดเผยสามารถตรวจสอบรายงานการประชุมของ ก.ต.เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้ อันเป็นหลักประกันแก่ข้าราชการตุลาการทุกคนที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม “แม้การดำเนินงานตามมติของ ก.ต.ในเรื่องการเลื่อนตำแหน่งจะไม่สามารถทบทวนได้ แต่ได้มีการกลั่นกรองข้อเท็จจริงจาก อ.ก.ต. จำนวนถึง 21 คน มาแล้ว หลักการดังกล่าวนี้ศาลยุติธรรม ใช้มาอย่างยาวนาน และได้รับการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ไม่อาจทบทวนความเป็นอิสระโดยองค์กรอื่นได้” โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวและว่าเมื่อ ก.ต.ไม่ให้ความเห็นชอบแล้ว เลขานุการ ก.ต. ก็ต้องเสนอผู้ที่มีอาวุโสลำดับถัดไป ตาม พ.ร.บ.ข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ.2543 มาตรา 50 จึงไม่เป็นการขัดต่อหลักอาวุโส นายสืบพงษ์ โฆษกศาลยุติธรรมยังกล่าวถึง การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในชั้นต้น กับนายศิริชัย ว่า ในการสอบข้อเท็จจริงในชั้นต้น นายศิริชัย มีสิทธิที่จะเสนอข้อเท็จจริงได้อย่างเต็มที่และหากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่มีมูลเป็นความผิดวินัย คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงก็ต้องเสนอยุติเรื่อง แต่หากมีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แม้ภายหลังนายศิริชัยจะพ้นจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการไปแล้ว คณะกรรมการก็ยังสามารถดำเนินการทางวินัยสอบสวนหรือพิจารณาลงโทษได้เสมือนผู้นั้นยังมิได้พ้นจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 75 “เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาในชั้น อ.ก.ต.และ ก.ต.ในเรื่องความไม่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาของนายศิริชัยแล้วโดยมีกรณีเป็นที่สงสัยว่าเป็นการกระทำผิดวินัย จึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของ ก.ต.ที่จะต้องดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับข้าราชการตุลาการรายอื่น ไม่เช่นนั้นอาจถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”นายสืบพงษ์ กล่าวย้ำ โฆษกศาลยุติธรรม ยังกล่าวยืนยันถึงการกำหนดตำแหน่ง “ที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา ว่าก.ต.มีอำนาจออกประกาศกำหนดให้มีตำแหน่งข้าราชการตุลาการที่เรียกชื่ออย่างอื่นอีกได้ ซึ่งการกำหนดตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกานั้น เทียบเท่ากับตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการชอบด้วยบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. 2543 มาตรา11 วรรคสอง กำหนดว่านอกจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการตามที่ระบุไว้ในมาตรา 11 วรรคหนึ่ง เช่น ตำแหน่งประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ฯลฯ ก.ต.มีอำนาจออกประกาศกำหนดให้มีตำแหน่งข้าราชการตุลาการที่เรียกชื่ออย่างอื่นอีกได้