ทูตเกษตรประจำกรุงโตเกียวพอใจผลการทดสอบขนส่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองทางเรือจากไทยไปญี่ปุ่น ของนักวิจัย สกว. ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้ 2 เท่าเมื่อเทียบกับทางอากาศ และสร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกร พร้อมแนะทำสวนควบคุมพิเศษให้มีปริมาณและคุณภาพตามมาตรฐานส่งออก นายชลธิศักดิ์ ชาวปากน้ำ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) ประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมชมกิจกรรมการทดลองขนส่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองทางเรือจากประเทศไทยไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่โครงการ “การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่น โดยการขนส่งทางเรือ” ซึ่งมี ผศ. ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท จากภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 คณะวิจัยได้ค้นพบเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่งทางเรือที่เหมาะสม พร้อมกับศึกษาวิธีการยืดอายุมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้นาน 33 วัน และประสบความสำเร็จจากการทดลองส่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปประเทศญี่ปุ่นทางเรือจำนวน 580 กิโลกรัม ในช่วงเดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร สกว.แนะนำว่าหากจะนำผลการทดลองที่ประสบความสำเร็จนี้ไปใช้จริงในเชิงพาณิชย์จำนวนตั้งแต่ 10 ตันขึ้นไป ควรต้องมีการศึกษาและควบคุมการผลิตตั้งแต่แปลงมะม่วงของเกษตรกร กระบวนการยืดอายุจนถึงกระบวนการการส่งออกมะม่วงทางเรือในเชิงพาณิชย์ได้ ดังนั้น สกว.จึงได้อนุมัติทุนต่อยอดในปีงบประมาณ 2560 ในโครงการ “การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่นโดยการขนส่งทางเรือเชิงพาณิชย์” โดยมีคณะวิจัยชุดเดิมเป็นผู้ดำเนินการ คณะวิจัยได้ทดลองการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองทางเรือไปประเทศญี่ปุ่นในช่วงฤดูร้อน จำนวน 1.2 ตัน เพื่อยืนยันผลการศึกษาด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและวิธีการยืดอายุมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เริ่มต้นจากคัดเลือกผลผลิตมะม่วงจากสวนที่ได้มาตรฐาน ผ่านการตรวจคุณภาพความแก่ ทำความสะอาด และกระบวนการยืดอายุการสุก โดยการขนส่งมะม่วงทางเรือนั้นเรือบรรทุกสินค้าเดินทางถึงท่าเรือโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ใช้เวลาทั้งสิ้น 12 วัน ผลการทดลองพบว่ามะม่วงทั้งหมดอยู่ในสภาพสด พร้อมจำหน่าย และยังคงรสชาติได้ดีเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค จากการนำไปทดสอบการบริโภคที่ร้าน Hapi Marche ภายในสถานีรถไฟฟ้า Tachikawa โดยการขนส่งทางเรือนี้สามารถลดต้นทุนประมาณ 2 เท่า ที่หน่วยขนส่ง 10 ตันทางอากาศ เทียบกับ 10 ตันทางเรือ ภายหลังการเยี่ยมชมและหารือร่วมกับคณะวิจัยของ สกว. นายชลธิศักดิ์ เปิดเผยว่า การขนส่งทางเรือจะทำให้ต้นทุนการขนส่งถูกกว่าการขนส่งทางอากาศ และทำให้ผลผลิตจากประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้ นับว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงให้มีรายได้จากการส่งออกเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังรู้สึกเป็นห่วงเรื่องปริมาณการส่งออกผลผลิตให้ได้ตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะต้องมีปริมาณมากเพียงพอและต่อเนื่อง ที่สำคัญคือต้องมีการควบคุมคุณภาพตั้งแต่การปลูก ซึ่งควรจะต้องมีสวนควบคุมพิเศษ เพื่อไม่ให้มีเพลี้ยไฟและการเกิดโรคแอนแทรกโนสที่จะทำให้เกิดจุดแผลตกค้างอยู่บนใบ กิ่ง และผลจนเน่า สร้างความเสียหายทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิตมะม่วงเป็นอย่างมาก รวมถึงความปลอดภัย ไม่ให้มีปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดเกินกว่า 5 MRLs (Maximum Residue Limits) เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีความเข้มงวดเรื่องนี้เป็นอย่างมาก หากตรวจสอบว่าเกินค่ามาตรฐานจะทำลายทิ้งทันทีที่ท่าเรือ