สกอ.ผนึกอาชีวะ ผลิตกำลังคนรองรับไฮสปีดเทรนครบวงจร ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษาโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ก.ค.60 มีมติเห็นชอบโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.3 กิโลเมตร ซึ่งรัฐบาลไทย เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งจะเสร็จสิ้นโครงการระยะแรกในปี 2564 โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้สนองนโยบายนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เกิดการถ่ายโอนองค์ความรู้และเทคโนโลยีระบบราง อย่างเป็นมาตรฐานและครบวงจร ทั้งนี้ ศธ. ได้มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดตั้งคณะทำงานพิเศษทำหน้าที่ประสานงานบริษัทเอกชนที่ดำเนินโครงการ เพื่อเชื่อมโยงการถ่ายโอนความรู้ และวิธีการซ่อมบำรุง ของระบบรางรถไฟฟ้า ตัวรถไฟฟ้า ระบบส่งกำลังไฟฟ้า และระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมวางกรอบหลักสูตรการผลิตกำลังคนด้านการเดินรถไฟระบบราง และการบริหารจัดการระบบราง อย่างครบวงจร เช่น งานบริการการจำหน่ายตั๋ว เชื่อมต่อระบบ บริหารสถานี ระบบสาธารณูปโภค ไฟส่องสว่าง ระบบกระจายเสียง งานเซอร์วิสระบบราง บำรุงรักษาตัวรถ การพาณิชย์ การบริหารศูนย์การค้าและชุมชนในพื้นที่รอบสถานี ฯลฯ และใกล้เคียง ต่อยอดไปสู่นวัตกรรมใหม่ เมื่อเกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีในทุกระดับ ดร.กมล กล่าวต่อว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ จะนำไปสู่โอกาสทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศ ในส่วนการจัดการศึกษา ของสถาบันอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ให้มีความสอดคล้องการผลิตกำลังคน ตามพื้นที่รายทางระบบรางจังหวัดโครงข่ายในการพัฒนา ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ในระยะแรก และนำไปสู่เขตจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ในระยะต่อไป รวมทั้งสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้เชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ลดการย้ายถิ่นฐาน สร้างงานในพื้นที่ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนทำงานอยู่อาศัยกับครอบครัวในสังคมผู้สูงอายุ ในอีก 5 ปีข้างหน้า และเมื่องานก่อสร้างระบบรางเสร็จสิ้น คนไทยสามารถดูแลระบบโครงการได้เอง หรือมีความสามารถในการพัฒนาระบบรางรถไฟได้ด้วยตัวเอง