เพื่อประโยชน์สุของปวงชนชาวไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตามโบราณราชประเพณี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ความว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ได้ทรงตั้งพระราชปณิธานว่า จะทรงร่วมรับ มิว่าทุกข์หรือสุขของประชาชน เท่ากับทุกข์หรือสุขของพระองค์เอง จะทรงทำความดี พัฒนานำความเจริญความสุขสวัสดีมาสู่ประเทศชาติอย่างแน่วแน่ และดีที่สุดที่จะทรงทำได้ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระเมตตา ทรงงานหนักเพื่อความอยู่ดีมีสุขของราษฎร ด้วยทรงห่วงใยในทุกข์ร้อนต่างๆ ของปวงพสกนิกรประหนึ่งว่าเป็นทุกข์ของพระองค์เอง ดังจะเห็นได้จากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงริเริ่มโครงการและกิจกรรมตามแนวพระราชดำริเพื่อการพัฒนาประเทศไว้มากมาย ทรงใช้เวลาศึกษาแผ่นดินไทย และรายละเอียดของพื้นดิน ภูมิประเทศหลักๆ ของแหล่งน้ำการเกษตร ความต้องการของประชาชน ตลอดจนการส่งเสริมอาชีพว่าท้องถิ่นไหนเหมาะแก่การครองชีพอย่างไร โดยทรงทราบถึงความทุกข์ของประชาชนผ่านการถ่ายทอดจากปากสู่พระกรรณ และจากสายพระเนตรที่ทรงพบเห็นด้วยพระองค์เอง ตั้งแต่เริ่มแรกเสด็จขึ้นครองราชย์ตราบจนเสด็จสู่สวรรคาลัย การทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 เป็นการดำเนินงานในลักษณะทางสายกลางที่สอดคล้องกับสิ่งที่อยู่รอบตัว โดยทรงนำ “การพัฒนาคน” เป็นตัวตั้ง มองปัญหาอย่างเป็นองค์รวม ทรงศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำตามลำดับขั้น โดยทรงเริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นของประชาชนที่สุดก่อน ได้แก่ การสาธารณสุข เมื่อมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงแล้ว ก็จะสามารถทำประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อไปได้ จากนั้น จะเป็นเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งจำเป็นในการประกอบอาชีพ อาทิ ถนน และแหล่งน้ำ โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการใช้ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีที่เรียบง่าย ทรงเน้นการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้และเกิดประโยชน์สูงสุด ในการพระราชทานความช่วยเหลือ ทรงยึดหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” โดยทรงมีพระราชดำริว่า การพัฒนาใดๆ ต้องคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศภูมิสังคมของบริเวณนั้นว่าเป็นอย่างไร และสังคมวิทยาเกี่ยวกับลักษณะนิสัยใจคอของคน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน เข้าใจถึงสถานการณ์หรือปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาอย่างลึกซึ้งก่อน เข้าใจถึงสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิประเทศในแต่ละแห่งก่อน เข้าใจหลักปฏิบัติ และที่สำคัญ ต้องเข้าใจเขาและจะต้องทำอย่างไรให้เขาเข้าใจเราด้วย ดังพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานไว้ความตอนหนึ่งว่า “...การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา คือ นิสัยใจคอของคนเรา จะไปบังคับให้คนอื่นคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราเข้าไปช่วยโดยที่จะคิดให้เขาเข้ากับเราไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าไปแล้ว เราเข้าไปดูว่าเขาต้องการอะไรจริงๆ แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการพัฒนานี้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง...” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาที่ทรงชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่าหลายทศวรรษ ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงย้ำแนวทางการแก้ไข เพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี ในการทรงงานด้านการพัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมุ่งหมายเพื่อให้พสกนิกรมีชีวิตอยู่ในขั้นพออยู่พอกินก่อน แล้วจึงขยับขยายให้สามารถพึ่งตนเองได้ จนมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะขยายความช่วยเหลือไปสู่ระดับอื่นๆ ทั้ง สังคม ชุมชนและประเทศชาติต่อไป นอกจากนี้ ยังทรงชี้แนะแก่ผู้ปฏิบัติงานให้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม รู้ รัก สามัคคี มีความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจต่อกัน และมีความเพียร สำคัญที่สุด คือ ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่าง ทรงงานอย่างมีความสุขด้วยหลักธรรมะ เสียสละ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของราษฎร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรไม่เพียงแต่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก แต่ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลกอีกด้วย ไม่เฉพาะแต่พสกนิกรไทยเท่านั้นที่ตระหนักถึงในความจริงข้อนี้ ในระดับสากล ประเทศต่างๆ ล้วนยอมรับในหลักการทรงงานและพระปรีชาสามารถที่ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ไม่เพียงแต่ช่วยให้ประชาชนไทยได้พ้นจากความทุกข์เข็ญได้อย่างยั่งยืน แต่ยังได้ส่งผลถึงการบรรเทาทุกข์โศกและพัฒนาชีวิตให้แก่ประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย