หลักการทรงงานในสมเด็จพระบรมราชินีนาถรัชกาลที่9 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจมากมายหลายด้าน โดยได้เป็นที่ประจักษ์ในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศเสมอมา พระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ ได้สะท้อนให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกร ทรงบำเพ็ญโดยไม่ทรงเห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ด้วยพระปรีชาสามารถ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ด้วยขันติธรรมและด้วยพระราชปณิธานมุ่งมั่นที่ทรงห่วงใยประชาราษฎร์และแผ่นดินใต้ร่มพระโพธิสมภารของพระองค์อย่างแท้จริง ตลอดระยะเวลาที่ทรงงาน ภาพที่เราเห็นกันจนชินตาคือ ทรงประทับอยู่ท่ามกลางประชาชนและทรงงาน โดยไม่ถือพระองค์ มีราษฎรนั่งอยู่รายรอบ โดยพระองค์ทรงแย้มพระสรวลและทรงสนทนาไต่ถามทุกข์สุขของราษฎรด้วยพระพักตร์ที่ทรงแสดงออกถึงความห่วงใย เมื่อทรงทราบถึงปัญหาของราษฎร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ในการเสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ นับตั้งแต่นั้นมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎร ณ ที่แห่งใด เกือบทุกครั้ง จะเห็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงประทับและทรงงานเคียงข้างอยู่เสมอ โดยจะทรงรับฟังปัญหาและความทุกข์สุขของราษฎรอย่างตั้งพระราชหฤทัย ดังพระราชปณิธานที่ทรงเคยมีพระราชดำรัสไว้ถึงสาเหตุที่ต้องทรงงานหนัก ความตอนหนึ่งว่า “...ความจริงที่ข้าพเจ้ามีกำลังใจและกำลังกายที่จะปฏิบัติหน้าที่รับใช้บ้านเมือง ก็เนื่องด้วยเหตุนึกถึงคำของพ่อที่สอนมาตั้งแต่เล็กๆ และก็เมื่อแต่งงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงสอนตลอดมาว่า แผ่นดินนี้ มีคุณ มีบุญคุณแก่ชีวิตของพวกเรามากมายนัก เพราะฉะนั้นชีวิตที่เกิดมานี้อย่าได้ว่างเปล่า จงตอบแทนให้รู้สึกตัวเสมอว่าเป็นหนี้บุญคุณ...” ด้วยพระเมตตาและทรงห่วงใยต่อราษฎรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะกรรมการอาสาสมัครและอาสาสมัครสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ถึงสาเหตุที่ทรงงานหนักเพื่อพสกนิกรชาวไทย เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๑๐ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ความตอนหนึ่งว่า “...เรามีความสุขแต่ลำพังโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนอีกหลายคนที่แวดล้อมเราอยู่นั้นไม่ได้ ผู้มีเมตตาจิตหวังประโยชน์ส่วนรวมย่อมรู้จักแบ่งปันความสุขเพื่อผู้อื่น และพร้อมที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้อื่นตามกำลังและโอกาสเสมอ...” ในงานด้านการพัฒนา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงยึดแนวพระราชดำริที่ตั้งอยู่บนหลักการ 5 ประการ หลักการที่หนึ่ง คือ ทรงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในระดับพื้นฐานของประเทศ อันได้แก่ ชนบทซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารและเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังพระราชดำรัสพระราชทานในโอกาสเสด็จฯ ไปทรงเปิดงานชุมนุมแม่บ้านครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน2510 ณ วิทยาลัยครูสวนดุสิต ความตอนหนึ่งว่า “...ความมุ่งหวังในการพัฒนาประเทศ ไม่ควรจะมุ่งหมายแต่เพียงการอยู่ดีกินดีเฉพาะแต่ในพระนครเท่านั้น ชาวบ้านเมืองเราจะเจริญก้าวหน้าได้ก็ต่อเมื่อทุกครอบครัวทั่วในประเทศมีความเป็นอยู่ดีขึ้นเป็นลำดับ...” หลักการที่สอง คือ ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านจิตใจ เพื่อนำสู่ความสุข สันติและเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในจิตใจอย่างแท้จริง ดังพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2527 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต ความตอนหนึ่งว่า “...บ้านเมืองของเราจะทำนุบำรุงให้เจริญรุ่งเรือง เพียงเท่าที่ตาเห็นภายนอกนั้นไม่พอ ต้องให้เจริญทั้งข้างนอกและข้างในไปพร้อมๆกัน...ซึ่งเรื่องนี้เราจะใช้เงินทุ่มแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องทุ่ม “น้ำใจ” เข้าไปด้วย...” หลักการที่สาม คือ ทรงให้ความสำคัญกับ “โอกาส” ของราษฎรที่จะได้รับการพัฒนาหรือมีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยไม่แบ่งแยกชั้นวรรณะหรือเชื้อชาติ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะอาศัยอยู่ในภูมิภาคใดของประเทศ นับถือศาสนาใด หรือพูดภาษาใด ด้วยทรงเห็นว่า ราษฎรนั้นมีศักยภาพอยู่แล้ว ขอเพียงแต่ให้โอกาสให้เขาได้ใช้ความรู้ความสามารถเท่านั้น เขาก็จะสามารถแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ ดังพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานไว้แก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2533 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต ความตอนหนึ่งว่า “...ไม่ว่าจะแห่งหนไหนใกล้หรือไกลเพียงใด ข้าพเจ้าก็ค้นพบอัญมณีล้ำค่าจากทรัพยากรของชาติ คือ ประชาชนคนไทยได้เสมอ ขอเพียงให้เขาได้รับโอกาสในชีวิต อัญมณีชาวไทยทุกเม็ดก็จะส่องแสงแวววับ...” หลักการที่สี่ คือ ทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ดังพระบรมราโชวาท ในคราวเสด็จฯ แทนพระองค์ ที่ได้พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2518 ความตอนหนึ่งว่า “...เมื่อพูดถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ข้าพเจ้าใคร่จะขอให้ถือเป็นกรณีที่ต้องพิจารณาไตร่ตรองเป็นพิเศษ เพราะเหตุว่า การอนุรักษ์นั้น แม้เป็นสิ่งที่ดีมากที่ทุกประเทศมุ่งรักษาประโยชน์ระยะยาวของแผ่นดินและประชาชนก็ตาม แต่หากทำโดยไม่ระมัดระวังและโดยรอบคอบถี่ถ้วน บางทีก็อาจเป็นผลเสีย... ก่อนที่จะวางแผนและปฏิบัติการอนุรักษ์ จึงจำเป็นต้องพิจารณาศึกษาให้เห็นตลอดปลอดโปร่ง มีความอะลุ่มอล่วยและดำเนินการไปโดยไม่ขัดกับเหตุการณ์สิ่งแวดล้อม มนุษยสัมพันธ์และสำคัญที่สุดต้องไม่ขัดกับการครองชีพของประชาชน สรุปว่า ทุกคนต้องไม่ลืมว่าการอนุรักษ์นั้นก็คือ การปฏิบัติเพื่อมุ่งรักษาประโยชน์อันถาวรของแผ่นดินและประชาชน...” หลักการที่ห้า คือ ทรงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและของรัฐบาล ดังพระราชดำรัสเกี่ยวกับการกำเนิดโครงการศิลปาชีพและการทรงงานด้านต่างๆ เช่น พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๔ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต ความตอนหนึ่งว่า “...ข้าพเจ้าได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำของพระราชทานไปช่วยเหลือราษฎร... แล้วทรงรับสั่งกับข้าพเจ้าว่า การช่วยเหลือแบบนี้เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ซึ่งไม่สำคัญ ช่วยเขาไม่ได้จริงๆ ไม่เพียงพอ ทรงคิดว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือชาวบ้านเป็นระยะยาว คือ ให้เขามีหวังที่จะอยู่ดีกินดีขึ้น ลูกหลานได้เข้าโรงเรียน ได้เรียนหนังสือ ซึ่งในเรื่องนี้รัฐบาลได้พยายามส่งเสริมอยู่แล้ว... แต่ชาวนาชาวไร่บอกว่า เขาส่งให้ลูกไปเรียนหนังสือไปเข้าโรงเรียนไม่ได้ เพราะต้องอาศัยลูกเป็นกำลังช่วยทำมาหากิน... ข้าพเจ้าจึงเริ่มคิดหาอาชีพเสริมให้แก่ครอบครัวชาวนาชาวไร่ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงหาแหล่งน้ำให้การทำไร่ทำนาของเขาเป็นผลต่อประเทศชาติต่อบ้านเมือง เสด็จพระราชดำเนินไปดูตามไร่ของเขาต่างๆ ทรงคิดว่า นี่เป็นการให้กำลังใจ และที่ทรงให้ข้าพเจ้าดูแลพวกครอบครัว ก็เลยเป็นที่เกิดของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ...” พระมหากรุณาธิคุณภาพรวมผ่านหลักการทรงงานและแนวพระราชดำริในด้านการพัฒนาในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9พระแม่ของแผ่นดินผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ขอพระองค์ทรงพระเจริญ