นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวการณ์นำเข้า-ส่งออก มิถุนายน 2560 ว่า ส่งออกเดือนมิถุนายน 2560 มีมูลค่า 20,282 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ไตรมาส 2 ส่งออกขยายตัว 10.9% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 4.9% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส ขณะที่ 6 เดือนแรก ส่งออกมีมูลค่า 113,547 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 7.8% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี ส่วนทั้งปีมั่นใจว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 5% อย่างแน่นอน “ทั้งนี้มองว่า หากจะทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวได้ 5% การส่งออกช่วงที่เหลือของปีนี้จะต้องส่งออกแต่ละเดือนมีมูลค่า 18,768 ล้านดอลลาร์ และหากจะให้การส่งออกขยายตัวได้ 6% แต่ละเดือนจะต้องส่งออกให้มีมูลค่า 19,127 ล้านดอลลาร์”นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว ด้านนำเข้าในเดือนมิถุนายนมีมูลค่า 18,365 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.7% และการนำเข้า 6 เดือน มีมูลค่า 106,576 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15% ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเกินดุล 1,917 ล้านดอลลาร์ ส่วน 6 เดือนเกินดุล 6,971 ล้านดอลลาร์ นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้กระทรวงพาณิชย์มองว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม คือ ความเสี่ยงนโยบายการค้าของสหรัฐ อัตราดอกเบี้ย และมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ หรือ QE ของประเทศใหญ่และความเปราะบางในภูมิภาคต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและความไม่มีเสถียรภาพต่างๆ อย่างไรก็ตาม ด้านค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น มองว่าจะเป็นปัจจัยระยะสั้นเท่านั้น แต่ผู้ส่งออกควรเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับความผันผวน ส่วนมาตรการที่สหรัฐระบุว่าจะกีดกันกลุ่มประเทศที่เกินดุลการค้าเยอะ ซึ่งรวมถึงไทยด้วยนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสหรัฐ โดยไทยเตรียมส่งข้อมูลส่งข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาของไทยไปเพิ่มเติม “เรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น เป็นปัจจัยที่เราต้องเฝ้าติดตาม แต่อย่างไรก็ตามมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง จะเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งยอมรับว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้น อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรบ้าง เนื่องจากมีการนำเข้าวัตถุดิบอยู่ในระดับสูง”นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า การส่งออกสินค้าในช่วงที่ผ่านมา พบว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบขยายตัว 18.9% ด้านผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว 43.7% ส่วนสินค้าที่หดตัวสูง คือ ทองคำ ชะลอลง 46.2% ด้าน รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบชะลอลง 2.5% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบที่หดตัว 0.9% ด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ขยายตัวดีเกือบทุกรายการ ทั้งปริมาณและราคา โดยเฉพาะข้าว ที่มีปริมาณการส่งออกถึง 44.4% รวมครึ่งปีแรกส่งออกได้ 5.4 ล้านตัน และมั่นใจว่าทั้งปีจะส่งออกได้ 10 ล้านตันอย่างแน่นอน