กรมส่งเสริมการเกษตร เผย จำนวนโครงการที่ชุมชนดำเนินการ ภายใต้โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ขับเคลื่อนพร้อมกันทั่วประเทศแล้ว 24,166 โครงการ วงเงิน 19,865.81 ล้านบาท พร้อมประกาศจัดงานคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร พร้อมกันทุกพื้นที่ทั่วประเทศ 27 กรกฎาคม นี้ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ความก้าวหน้า“โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาภาคการเกษตร อย่างยั่งยืน” ณ วันที่ 19 ก.ค.60 ที่ผ่านมา มีชุมชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 9,101 ชุมชน สำหรับวงเงินที่ ครม.อนุมัติ 22,752.50 ล้านบาท โดยชุมชนได้มีการเสนอและคณะกรรมการฯ ระดับอำเภอ พิจารณา/อนุมัติโครงการแล้ว 24,166 โครงการ วงเงิน 19,865.81 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 87.31 จากที่ ครม.อนุมัติ ซึ่งขณะนี้ สำนักงบประมาณได้โอนจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่ครบแล้วทุกชุมชนที่จะดำเนินการ สำหรับงบประมาณได้ แบ่งเป็นค่าวัสดุและอุปกรณ์ 9,899.38 ล้านบาท คิดเป็น 49.83% และเป็นค่าจ้างแรงงาน 9,966.43 ล้านคิดเป็น 50.17 % อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการทั้งหมดที่ชุมชนดำเนินการแยกเป็นประเภท ดังนี้ 1.โครงการประเภทการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ร้อยละ 35.24 จำนวน 8,517 โครงการ งบประมาณ 10,581.30 ล้านบาท 2.โครงการประเภทการผลิตพืชและพันธุ์พืช ร้อยละ 20.87 จำนวน 5,044 โครงการ งบประมาณ 3,169.26 ล้านบาท 3.โครงการประเภทการปศุสัตว์ ร้อยละ 14.40 จำนวน 3,479 โครงการ งบประมาณ 2,045.32 ล้านบาท 4.โครงการประเภทการผลิตอาหาร การแปรรูปผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ร้อยละ 11.91 จำนวน 2,877 โครงการ งบประมาณ 1,212.45 ล้านบาท 5.โครงการประเภทการประมง ร้อยละ 10.690 จำนวน 2,583 โครงการ งบประมาณ 1,383.89 ล้านบาท 6.โครงการประเภทฟาร์มชุมชน ร้อยละ 4.03 จำนวน 975 โครงการ งบประมาณ 1,010.04 ล้านบาท 7.โครงการประเภท การจัดการศัตรูพืช ร้อยละ 1.82 จำนวน 439 โครงการ งบประมาณ 230.76 ล้านบาท 8.โครงการประเภทการปรับปรุงบำรุงดิน ร้อยละ 0.87 จำนวน 210 โครงการ งบประมาณ 216.39 บาท และโครงการประเภทการเกษตรอื่นๆ ร้อยละ 0.17 จำนวน 42 โครงการ งบประมาณ 16.40 ล้านบาท “เงื่อนไขของโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ได้มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชน ใน 3 ส่วน คือ การจ้างแรงงานเกษตรกรที่มีรายได้น้อย การใช้จ่ายในชุมชน และเมื่อโครงการสําเร็จแล้ว เกษตรกรที่คนในชุมชนสามารถเข้าใช้ หรือรับประโยชน์จากผลผลิตของ โครงการได้ เช่น โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จะจ้างเกษตรกรที่มีรายได้น้อยผลิตพร้อมเรียนรู้ โดยซื้อวัสดุจากเกษตรกรด้วยกันเองเป็นส่วนใหญ่ เมื่อได้ปุ๋ยอินทรีย์แล้วจะจัดสรรให้เกษตรกรทุกคนในชุมชน เป็นต้น ซึ่งเกิดประโยชน์กับเกษตรกรทุกคนในชุมชนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรที่มีรายได้น้อย มักเกิดจากการว่างงาน ไม่มีอาชีพอื่นเสริม หากแจกเงินให้ เกษตรกรต้อง เก็บออมไว้ใช้ในยามจําเป็น และ แรงงานส่วนที่ว่างงานไม่ได้มาใช้ในภาคการผลิตเช่นเดิม ดังนั้น โครงการฯ นี้จะช่วยสนับสนุนและต่อยอดอาชีพและรายได้แก่เกษตรกรไม่เพียงเฉพาะรายเท่านั้นแต่เป็นการสร้างรายได้ระดับชุมชนและเกิดการหมุนเวียนในระดับเศรษฐกิจฐานรากได้” นายสมชาย กล่าว นายสมชาย กล่าวอีกว่า หลังจากที่ครม.อนุมัติ การดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรขับเคลื่อนงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้ทันต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังเพื่อให้งบประมาณลงสู่ชุมชนถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม นับจากนี้จะเป็นการดำเนินการทำงานร่วมกับชุมชนในทุกโครงการ จะต้องโปร่งใส มีเจ้าหน้าที่คอยเป็นพี่เลี้ยง รวมทั้งต้องทำงานอย่างรัดกุม เพื่อให้เกิดการตรวจสอบ ติดตาม การกำกับ ติดตาม และประเมินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดความยั่งยืน รวมทั้งจะต้องประเมินผลของโครงการได้ ภายใน 5 ธันวาคม นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้เตรียมจัดงานคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 65 พรรษา 28 กรกฎาคม 2560 และถือโอกาสให้เกษตรกรในโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดี และถวายพระพรพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ณ อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี