ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง ภาพ / สิริภูมิ ชูวงศ์ตระกูล “ปั้นต้นแบบ งามในกายวิภาค ประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9” ในศิลปกรรมความงามของงานปั้นต้นแบบประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ดูครั้งใดก็ช่างสง่างาม อดไม่ได้ที่กดชัตเตอร์เก็บไว้เป็นภาพถ่ายความทรงจำ ไม่ว่าจะเป็นงานปั้นต้นแบบมหาเทพ 4 องค์ พระอินทร์ พระอิศวร (พระศิวะ) พระนารายณ์ พระพรหม ปั้นต้นแบบจตุโลกบาล 4 องค์ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และท้าวกุเวร (ท้าวเวสวัณ หรือ ท้าวเวสสุวรรณ) ต้นแบบพระพิฆเนศ ครุฑยืน ครุฑประดับหัวเสา เทวดานั่ง/ยืน ตลอดจนสัตว์มงคลประจำทิศ ราชสีห์ ช้าง ม้า โค (โคอุสภะ) สัตว์หิมพานต์ คชสีห์ เป็นต้น ตลอดจนแท่นฐานประติมากรรมของแต่ละรูปองค์ ดำเนินการปั้นต้นแบบโดยกลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ในความงามของงานปั้นต้นแบบ ย่อมต้องมีกระบวนการกรรมวิธีของแต่ละขั้นตอนก่อนที่ประติมากรแต่ละท่านลงมือขึ้นโครงปั้นกายวิภาค ประติมากร ประสพสุข รัตน์ใหม่ หัวหน้ากลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ได้ร่ายภาพขั้นตอนให้เห็น “เริ่มแรก เมื่อเราทราบว่าจะต้องทำรูปแบบใดบ้างแล้ว จากนั้นทำการร่างภาพดรออิ้ง (drawing) ภาพลายเส้น ส่วนประติมากรรมปั้นเป็นภาพสเก็ต 3 มิติ แล้วนำทั้ง 2 รูปมาเชื่อมประสานกันอยู่ในงานประติมากรรม เมื่อรูปแบบได้รับการผ่านพิจารณาแล้ว นำรูปแบบนั้นมาปั้นขยายตามสัดส่วนที่เท่าจริงประดับพระเมรุมาศ โดยวิธีการร่างภาพลงบนกระดานให้ได้สัดส่วนท่าทางตามแบบที่กำหนด จากนั้นวางโครงเหล็กภายใน เปรียบเสมือนกับโครงกระดูก ผูกไม้กากบาท เมื่อเรียบร้อยแล้วนำดินเหนียวที่เตรียมไว้แล้วมาปั้นขึ้นเป็นรูปทรงที่ต้องการ ขั้นตอนต่อไปทำสัดส่วนโครงสร้างกายวิภาค เมื่อขึ้นโครงสร้างกายวิภาคได้แล้ว เริ่มใส่เครื่องฉลองพระองค์ ลวดลายต่างๆ จนเสร็จสมบูรณ์ จึงจะเริ่มดำเนินการทำแม่พิมพ์ จากนั้นนำไปหล่อไฟเบอร์กลาสมาเป็นรูปต้นแบบ แล้วนำต้นแบบมาทำสีรองพื้น ส่งให้กลุ่มงานจิตรกรรมดำเนินการเพ้นส์สีจนแล้วเสร็จ พร้อมที่จะนำประติมากรรมไปติดตั้งประดับพระเมรุมาศ” ‘ประสพสุข’ กล่าวถึงดินเหนียวที่นำมาปั้นต้นแบบครั้งนี้ว่า เรานำดินเหนียวจากแหล่งสามโคก จังหวัดปทุมธานี มาปั้นงานต้นแบบ ด้วยคุณสมบัติมีสีเหลืองออกนวล หรือภาษาช่างจะเรียกกัน ขี้งูเหลือม ดูแล้วสบายตา ไม่ทึบ มีความละเอียดและเหนียว เวลาแห้งแล้วไม่ร่วน ไม่มีเม็ดทรายผสม ประกอบกับได้ความรู้มาจากคนเก่าแก่และอาจารย์วิทยาลัยเพาะช่างได้ทำการวิจัยดินเหนียว ว่าดินเหนียวสามโคกเหมาะที่จะนำมาปั้นงานต้นแบบประติมากรรม สำหรับความคืบหน้างานปั้นต้นแบบที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ ‘ประสพสุข’ หน.กลุ่มประติมากรรม กล่าวว่า พระพิฆเนศยืน 4 กร อยู่ในขั้นตอนปั้นโครงสร้างกายวิภาค ควบคู่ไปกับการปั้นเครื่องแต่งกายและประดับตกแต่งรายละเอียด โดยพระกรซ้ายด้านบนทรงถือบ่วงบาศ ด้านล่างทรงถือขนมโมทกะ ส่วนพระกรขวาด้านบนทรงถือสังข์ ด้านล่างทรงถือดอกบัว ตามรูปแบบที่คุณสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ ผู้ออกแบบกำหนดไว้แล้ว ทั้งนี้ พระพิฆเนศ ทำการหล่อ 2 รูป คือพระพิเนก และพระพินาย ส่วนงานปั้นองค์มหาเทพ พระอินทร์ ได้ปั้นต้นแบบเสร็จแล้ว อยู่ในช่วงประดับตกแต่งลวดลายต่างๆ เช่น พาหุรัด ทองกร ทองบาท สนับเพลา ภูษา พระหัตถ์ถือวชิระ เพื่อใช้ปราบผีร้าย อีกข้างจะถือดอกบัว ส่วนยอดลักษณะเป็นมงกุฎกาบไผ่ ขณะที่ พระอิศวร อยู่ในขั้นตอนเก็บรายละเอียด เช่นเดียวกับท้าวจตุโลกบาล วิรูปักษ์ และวิรุฬหก เมื่อปั้นเสร็จแล้วส่งทำพิมพ์ หล่อไฟเบอร์กลาส และลงสีตามลำดับ ด้าน ภราดร เชิดชู ประติมากรชำนาญการพิเศษ เสริมภาพรายละเอียดเครื่องทรงงานปั้นต้นแบบพระอิศวรว่า มีลักษณะพิเศษ นุ่งห่มด้วยหนังเสือทั้งตัว มีหน้าเสือ ขาเสือมัดไว้รอบเอว และหางห้อยลงมา พระศอและแขนมีงูคล้องอยู่ การปั้นเครื่องทรงอ้างอิงข้อมูลจากเทวรูปของโบราณ และภาพร่างลายเส้น ที่คุณสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร ได้ร่างลายเส้นไว้ ก่อนปรับประยุกต์การปั้นให้มีลักษณะไทย พระกรแต่ละข้างทรงถืออาวุธที่แตกต่างกันไป การปั้นมหาเทพองค์นี้ รวมสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของพระอิศวรไว้ครบถ้วน เป็นเทพที่มีพระจันทร์เสี้ยวอยู่บนพระเกศ มีพระเนตร 3 ดวง ดวงที่ 3 ปรากฎบนหน้าผาก และมี 4 กร ทรงถือบัณเฑาะว์ และถือตรี ส่วน 2 กร ทรงพนมมือ แนวทางปั้นภาพรวมจะทำให้พระอิศวรดูสงบนิ่งแต่เปี่ยมด้วยอำนาจ พระพักตร์จะดูดุ ส่วนแท่นฐานพระอิศวร เป็นรูปโค พาหนะของมหาเทพองค์นี้ กำลังตกแต่งต้นแบบปูนปลาสเตอร์และประกอบลายเฟื่องและอุบะ ขณะที่อีกมุม ประติมากรกำลังง่วนอยู่กับการแต่งลวดลายงานปั้นต้นแบบครุฑประดับหัวเสา เจริญ ฮั่นเจริญ จิตรกรชำนาญการ สำนักช่างสิบหมู่ กล่าวว่า “ได้รับมอบหมายในส่วนของรายละเอียดลวดลายคอ หาง และสุวรรณกระถอบ สำหรับเสียบห้อยที่ชายพกลงมาในระหว่างช่องหน้าขาทั้งสองของครุฑ มีลักษณะเป็นนาคสามเศียรที่ครุฑยุดนาคเอาไว้ โดยนาคนี้จะใช้สำหรับแขวนโคมของครุฑหัวเสาทั้ง 2 ขนาด สำหรับแนวทางปั้นจะเป็นลวดลายไทยประเพณีทั้งชุด ส่วนรูปทรงครุฑที่ทำพิมพ์แล้วจะมีกล้ามเนื้อแบบร่วมสมัย” และนี่เป็นภาพรวมชุดที่ 4 ศิลปกรรมในความงามงานปั้นต้นแบบประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9