ทรงสร้างประโยชน์สู่ปวงประชา โครงการหลวงตามแนวพระราชดำริ “..โครงการหลวง ได้เริ่มขึ้นเป็นกิจการเล็กๆ ซึ่งไม่เป็นโครงการ แต่เป็นการไปเที่ยวมากกว่า คือไปเที่ยวตามหมู่บ้านต่างๆ ก็ได้เห็นว่าควรจะช่วยประชาชนในการอาชีพ จึงได้นำสิ่งของไปให้เขาเพื่อที่จะพัฒนาการอาชีพของชาวบ้าน ต่อมาก็ได้เพิ่มขึ้น มีผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานราชการได้เข้ามาช่วย และมีคนส่วนหนึ่งช่วยเพื่อที่จะให้การส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ต่อมามีการร่วมมือของทางองค์กรต่างประเทศ ตลอดจนรัฐบาลต่างประเทศด้วย จึงขึ้นมาเป็นโครงการที่เรียกว่า “โครงการหลวง” โครงการหลวงเริ่มต้นจากโครงการที่ประกอบด้วยผู้ที่เป็นอาสาสมัครและเป็นข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ของไทย และเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มาจากต่างประเทศ ในที่สุดเป็นโครงการที่มากมายใหญ่โต ขยายออกไปจากการช่วยประชาชนในหมู่บ้าน ในวงจำกัด จนกระทั่งเป็นการช่วยเหลือเท่ากับเป็นภาคทีเดียว จึงต้องมีการบริหารที่ดีขึ้น และก็มีคนได้ช่วยบริจาคเงินและสิ่งของ เพื่อที่จะให้โครงการนี้ดำเนินไปตามจุดประสงค์ คือ ความกินดีอยู่ดีของประชาชน ต่อมาจึงได้เปลี่ยนแปลงเป็น “มูลนิธิโครงการหลวง” เพื่อที่จะให้กิจการนี้ดำเนินต่อไปได้อย่างสม่ำเสมอ ในการที่ได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการต่างๆ อย่างดีโดยเอื้อเฟื้อบุคลากรและ งบประมาณที่จะช่วยให้ทำได้ตามจุดประสงค์....” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำรัส ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2537 ในโอกาสที่ประธานมูลนิธิโครงการหลวงนำคณะบุคคลเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯถวายเงิน และน้อมเกล้าฯ ถวายสิ่งของเพื่อสนับสนุนกิจการมูลนิธิโครงการหลวง “...เรื่องที่จะช่วยชาวเขา โครงการชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขา เพื่อจะสนับสนุนและส่งเสริมให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้นสามารถที่จะเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้ของเขาเองที่มีโครงการนี้ จุดประสงค์อย่างหนึ่งก็คือ มนุษยธรรม หมายถึง ให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร สามารถที่จะมีความรู้และพยุงตัว มีความเจริญก้าวหน้าได้ อีกอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่าควรจะช่วยเพราะเป็นปัญหาใหญ่คือ ปัญหาเรื่องยาเสพติด ถ้าสามารถช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้างเขาจะเลิกปลูกยาเสพติดคือ ฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับการปราบปรามการปลูกฝิ่นและการค้าฝิ่น ได้ผลดี อันนี้ก็เป็นผลอย่างหนึ่ง ผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมากก็คือ ชาวเขา ตามที่รู้เป็นผู้ที่ทำการเพาะปลูกโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยชาวเขา ก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี ความอยู่ดีกินดี และปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ เพราะถ้าสามารถทำโครงการนี้ได้สำเร็จ ให้เขาอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง สามารถที่จะมีความอยู่ดีกินดีพอสมควร และสนับสนุนนโยบายที่จะรักษาป่าไม้ รักษาดินให้เป็นประโยชน์ต่อไป ประโยชน์อันนี้จะยั่งยืนมาก..." พระราชปณิธานในพระราชกรณียกิจช่วยชาวเขา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระราชดำรัสในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขา เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2537 จุดเริ่มต้นของโครงการหลวงตามแนวพระราชดำริ เมื่อปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรชีวิตของชาวเขาที่บ้านดอยปุยใกล้พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จึงทรงทราบว่าชาวเขาปลูกฝิ่นแต่ยากจน และทรงมีรับสั่งถามว่านอกจากฝิ่นขายแล้ว เขามีรายได้จากพืชชนิดอื่นอีกหรือเปล่า ทำให้ทรงทราบว่า นอกจากฝิ่นแล้ว เขายังเก็บท้อพื้นเมืองขาย แม้ว่าลูกจะเล็กก็ตาม แต่ก็ยังได้เงินเท่าๆกัน โดยที่ทรงทราบว่า สถานีทดลองดอยปุย ซึ่งเป็นสถานีทดลองไม้ผลเขตหนาว ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้นำกิ่งพันธุ์ท้อลูกใหญ่มาต่อกับต้นตอท้อพื้นเมืองได้ให้ค้นคว้าหาพันธุ์ท้อที่เหมาะสมสำหรับบ้านเรา เพื่อให้ได้ท้อผลใหญ่ หวานฉ่ำ ที่ทำรายได้สูงไม่แพ้ฝิ่น โดยพระราชทานเงินจำนวน 200,000 บาท ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับจัดหาที่ดินสำหรับดำเนินงานวิจัยไม้ผลเขตหนาวเพิ่มเติมจากสถานี วิจัยดอยปุยซึ่งมีพื้นที่คับแคบ ซึ่งเรียกพื้นที่นี้ว่า สวนสองแสน ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้น รูปแบบของโครงการหลวงในระยะแรก โครงการหลวงเกิดขึ้นจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำริให้เริ่มดำเนินการในรูปแบบของโครงการส่วนพระองค์ และมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งผู้อำนวยการ มีชื่อเรียกในระยะแรกว่า “โครงการหลวงพระบรมราชา นุเคราะห์ชาวเขา” โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมกับเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯถวาย สำหรับเป็นงบประมาณดำเนินงานต่างๆ และได้พระราชทานเป้าหมายสำหรับการดำเนินงาน ดังนี้ เป้าหมายแรก เพื่อช่วยชาวเขาเพื่อมนุษยธรรม เป้าหมายที่สอง เพื่อช่วยชาวไทยโดยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ คือ ป่าไม้และต้นน้ำลำธาร เป้าหมายที่สาม เพื่อกำจัดการปลูกฝิ่น เป้าหมายสุดท้าย เพื่อรักษาดิน และใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง คือ ให้ป่าอยู่ส่วนที่เป็นป่า และทำไร่ ทำสวน ในส่วน ที่ควรเพาะปลูกอย่าให้สองส่วนนี้รุกล้ำซึ่งกันและกัน การดำเนินงานของโครงการหลวง มีอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นนักวิชาการในสาขาต่างๆ ปฏิบัติงานถวาย ทำให้การปฏิบัติงานก้าวหน้าอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานวิจัยการปลูก พืชเขตหนาวชนิดต่างๆ เกษตรกรสามารถนำไปปลูกทดแทนฝิ่นได้ผลดีต่อมา ในปี 2537 โครงการควบคุมยาเสพติดของสหประชาชาติ (UNDCP) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณในการแก้ปัญหายาเสพติด โดยส่งเสริมให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น แต่ปลูกพืชอื่นแทน จึงกล่าวได้ว่าโครงการหลวงเป็นโครงการปลูกพืชทดแทนฝิ่นแห่งแรกของโลก แนวทางการทำงานของโครงการหลวง หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ได้ทรงอธิบายถึงวิธีการทำงานของโครงการหลวงไว้ในหนังสือประพาสต้นบนดอยว่า โครงการหลวงทำงานครบวงจร ซึ่งประกอบด้วย 5 ด้าน ด้านที่หนึ่ง การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้เกิดความชัดเจนของพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร และพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่นๆ ด้านที่สอง การปลูกป่าในพื้นที่ส่วนที่ควรเป็นป่า เช่น การปลูกป่าชาวบ้านตามแนวพระราชดำริป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ด้านที่สาม การทำการเกษตรภายใต้ระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมทั้งการพัฒนาพื้นฐาน ได้แก่ ระบบชลประทาน รวมถึงการปรับปรุงถนนระหว่างหมู่บ้านสำหรับการขนส่งผลผลิตต่างๆ ไปสู่ตลาด ด้านที่สี่ การทำการวิจัย ซึ่งต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการปลูกพืชเขตหนาวทุกชนิดเป็นเรื่องใหม่สำหรัประเทศไทย ทั้งนี้ จะนำผลจากการวิจัยไปใช้เป็นข้อมูลส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกร พัฒนาคนด้านการศึกษาและสาธารณสุขเพื่อให้เกษตรกรแต่ละคนช่วยเหลือตัวเองได้ ด้านที่ห้า การขนส่ง การจัดการหลังเก็บเกี่ยวแล้ว และการทำการตลาด เพื่อนำผลผลิตของเกษตรกรส่งต่อไปยังผู้บริโภคของโครงการ โครงสร้างงานพัฒนาของโครงการหลวง ประกอบด้วย (1) กลุ่มศูนย์พัฒนาโครงการหลวง (ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 38 แห่ง) (2) กลุ่มงานพัฒนาและส่งเสริมการผลิต (3) ศูนย์อารักขาพืช และ (4) กลุ่มงานพัฒนาการศึกษา สังคม และสาธารณสุข ประกอบด้วยงานสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านสังคมและสาธารณสุข ปัจจุบัน โครงการหลวงได้ส่งเสริมและพัฒนาในพื้นที่ชุมชนชาวเขา ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่สูง เรียกว่า ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 38 แห่ง โดยแต่ละศูนย์ครอบคลุมพื้นที่ 5-20 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดในภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน และพะเยา โดยมีประชากรชาวเขาเผ่าต่างๆ 13 เผ่าและมีชาวไทยที่อาศัยบนพื้นที่ภูเขา ที่ได้รับประโยชน์กว่า 37,000 ครัวเรือน