พระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ “...เรื่องน้ำนี้ ก็เป็นปัจจัยหลักของมวลมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้น แม้สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ทั้งสัตว์ทั้งพืช ถ้าไม่มีก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าน้ำเป็นสื่อ หรือเป็นปัจจัยสำคัญของสิ่งมีชีวิต แม้สิ่งไม่มีชีวิตก็ต้องการน้ำเหมือนกัน มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นอะไรไม่ทราบ เช่น ในวัตถุต่างๆ ในรูปผลึก ก็ต้องมีน้ำในนั้นด้วย ถ้าไม่มีน้ำก็จะไม่เป็นผลึก กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีรูป ฉะนั้น น้ำนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่กล่าวถึงข้อนี้ก็จะให้ได้ทราบถึงว่า ทำไมการพัฒนา ขั้นแรกหรือสิ่งแรก ที่นึกถึงก็คือโครงการชลประทาน แล้วก็โครงการ สิ่งแวดล้อมทำให้น้ำดี สองอย่างนี้อื่นๆ ก็จะเป็นไปได้ ถ้าหากว่า ปัญหา ของน้ำนี้ เราได้สามารถที่จะแก้ไข หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เรามีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ฉะนั้น การพัฒนานั้นสิ่งสำคัญก็อยู่ตรงนี้ นอกจากนั้น ก็เป็นสิ่งที่ต่อเนื่อง เช่นวิชาการในด้านการเพาะปลูก เป็นต้น ตลอดจนถึงการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม หรือการค้า หรือการคลัง อะไร พวกนี้ก็ต่อเนื่องต่อไป...” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรพระราชทาน เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2532 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นข้อประจักษ์ว่าทรงให้ความสำคัญเรื่องน้ำอย่างมาก ด้วยทรงถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของพสกนิกร สัตว์และสิ่งมีชีวิตนานาชนิดให้มีความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์ พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องทรัพยากรน้ำ การชลประทานและการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นอย่างยิ่ง เราสามารถเรียนรู้พระราชปณิธานในเรื่องนี้ได้จากพระราชดำรัสที่ทรงเคยพระราชทานไว้เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2512 ความตอนหนึ่งว่า “...อาจมีบางคนเข้าใจว่า ทำไมจึงสนใจเรื่องชลประทาน หรือเรื่องป่าไม้ จำได้เมื่ออายุ 10 ขวบ ที่โรงเรียนมีครู ซึ่งเดี๋ยวนี้ตายไปแล้ว สอนเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการอนุรักษ์ดิน แล้วให้เขียนว่าภูเขาต้องมีป่าไม้อย่างนั้น เมื่อเม็ดฝนตกลงมาแล้ว จะชะดินลงมาเร็ว ทำให้ไหลตามน้ำไป ทำความเสียหายดินหมดจากภูเขา เพราะไหลตามสายน้ำไป ก็เป็นหลักของป่าไม้ เรื่องการอนุรักษ์ และเป็นหลักของชลประทาน ที่ว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าไม้ข้างบน จะทำให้เดือดร้อนตลอดทั้งดินบนภูเขาจะหมดไป กระทั่งมีตะกอนลงมาในเขื่อน มีตะกอนลงมาในแม่น้ำ ทำให้น้ำท่วม นี้นะ เรียนมา ตั้งแต่ อายุ 10 ขวบ …" ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาต้นน้ำ และได้ทรงริเริ่มโครงการตามแนวพระราชดำริมากมายเพื่อพัฒนาต้นน้ำและรักษาแหล่งน้ำในประเทศไว้ ดังพระราชดำรัสพระราชทานเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2532 ณ ดอยอ่างขาง เชียงใหม่ ความตอนหนึ่งว่า “...สำหรับต้นน้ำ ไม้ที่ขึ้นอยู่บริเวณสองข้างลำห้วย จำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี เพราะจะช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ ส่วนตามร่องน้ำและบริเวณที่น้ำซับก็ควรสร้างฝายขนาดเล็ก กั้นน้ำไว้ในลักษณะฝายชุ่มชื้น แม้จะมีจำนวนน้อยก็ตาม สำหรับแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก จึงสร้างฝายเพื่อผันน้ำ ลงมาใช้ในพื้นที่เพาะปลูก...ควรสร้างฝายต้นน้ำลำธารตามร่องน้ำ เพื่อช่วยชะลอกระแสน้ำและกักเก็บน้ำ สำหรับสร้างความชุ่มชื้นให้กับบริเวณต้นน้ำ...” นอกจากโครงการตามแนวพระราชดำริเพื่อพัฒนาต้นน้ำแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ตราบจนเสด็จสวรรคตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงริเริ่มโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับน้ำ โครงการฝนหลวง เกิดขึ้นเมื่อคราวที่เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปี ๒๔๙๘ ในคราวนั้นสภาพผืนดินแตกระแหง เพราะฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล จึงเป็นที่มาของแนวพระราชดำริการทำฝนหลวงซึ่งประกอบด้วย ๓ ขั้นตอน ได้แก่ ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน โจมตี ปฏิบัติการเหนี่ยวนำกลุ่มเมฆให้ตกเป็นฝนนี้นำพาความอุดมสมบูรณ์แก่พื้นที่เกษตรกรรมอย่างทั่วถึง การบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา บึงมักกะสัน กรุงเทพมหานคร เป็นการนำวัชพืชที่ไร้ค่ามาเป็นพืชกรองน้ำเสียในแหล่งน้ำธรรมชาติ แนวพระราชดำรินี้เกิดขึ้นในปี 2528 ด้วยทรงสนพระราชหฤทัยใช้ผักตบชวาในการปรับปรุงคุณภาพของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ใจกลางเมือง เช่นที่บึงมักกะสัน เพราะผักตบชวามีคุณสมบัติที่ช่วยบำบัดน้ำเสียได้เป็นอย่างดี นับเป็นวิธีการที่เรียบง่าย ประหยัดและได้ประโยชน์สูงสุดตามหลักการทรงงานโดยแท้จริง โครงการน้ำดีไล่น้ำเสีย กรุงเทพมหานคร เป็นวิธีการบำบัดน้ำเสียโดยอาศัยหลักแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งถือเป็นการปรับปรุงคุณภาพน้ำที่ต่อยอดจากแนวพระราชดำริเมื่อปี 2528 คือ เป็นวิธีการส่งน้ำคุณภาพดีให้ไหลไปตามคลองต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำ และเมื่อครบวงรอบการไหลของน้ำแล้ว น้ำดีก็จะผลักดันน้ำเสียออกไป และช่วยเจือจางสภาพของน้ำเน่าเสียได้ โครงการกังหันชัยพัฒนา ในปี 2531 ทรงมีแนวพระราชดำริให้ประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศแบบประหยัด ที่เรียกว่า “กังหันน้ำชัยพัฒนา” มาช่วยเติมออกซิเจนให้กับน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียให้มีคุณภาพดีขึ้น โครงการห้วยองคต จังหวัดกาญจนบุรี ในปี 2533 ทรงมีพระราชดำริเรื่องการบริหารและจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ บนพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมของตำบลสมเด็จเจริญ จังหวัดกาญจนบุรี โดยทรงมุ่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสภาพป่าให้สมบูรณ์ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว จังหวัดลำพูน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำริให้ใช้พื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาวให้เกิดการใช้ประโยชน์ จึงได้ทรงส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเพิ่มผลผลิตการประมงในแหล่งน้ำ ด้วยหวังให้ลุ่มน้ำแห่งนี้เป็นที่ผลิตอาหารให้กับราษฎรและเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วย โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก เป็นเขื่อนคอนกรีตอัดบดที่ยาวที่สุดในประเทศและในโลก สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริในปี 2536 เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของราษฎรที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำนครนายก ตลอดจนแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งและดินเปรี้ยว โดยเขื่อนนี้เป็นเสมือนกำแพงช่วยชะลอกระแสน้ำไม่ให้ไหลบ่าเข้าท่วมชุมชนที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมด้วย โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริที่ได้ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2537 ซึ่งได้ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างเด่นชัด นับเป็นเขื่อนดินที่ยาวที่สุดในประเทศที่ได้ช่วยเก็บกักน้ำและช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการแก้มลิง เป็นระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีหลักการ คือ จัดหาคลองเป็นแหล่งพักน้ำตามจุดต่างๆ และใช้วิธีชักน้ำจากพื้นที่ท่วมขังให้ไหลลงสู่คลอง ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า “แก้มลิง”ก่อนจะระบายลงสู่ทะเลต่อไป โดยหลักการนี้ได้ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2538 อย่างชัดเจน โครงการผันน้ำเข้าที่ส่วนพระองค์ บริเวณพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการป้องกันน้ำท่วมอย่างมาก ดังเช่นเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ในปี ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ผันน้ำเหนือจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าที่ดินส่วนพระองค์ในบริเวณทุ่งมะขามหย่อง และชาวบ้านอีกหลายคนก็ได้อนุญาตให้ผันน้ำเข้าทุ่งนาของตนด้วย โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คลองลัดโพธิ์ เมื่อปี 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำริให้ใช้คลองลัดโพธิ์ที่ขวางตัวอยู่ในบริเวณส่วนที่แคบที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ตำบลบางกระเจ้า ซึ่งมีลักษณะคดเคี้ยว เพื่อช่วยระบายน้ำที่ท่วมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้ลัดลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ช่วยลดระยะทางการไหลของน้ำให้สั้นลง เหลือ 600 เมตรจาก 18 กิโลเมตร โครงการประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ จังหวัดนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานนาม “อุทกวิภาชประสิทธิ” ไว้เมื่อปี 2542 ซึ่งมีความหมายว่า ความสามารถในการแบ่งแยกน้ำจืดและน้ำเค็มได้สำเร็จ เนื่องด้วยประตูระบายน้ำแห่งนี้ทำหน้าที่ในการกั้นน้ำเค็มไม่ให้รุกเข้าไปในพื้นที่น้ำจืด ในบริเวณลุ่มน้ำปากพนัง และยังช่วยแก้ปัญหาน้ำเปรี้ยวและบรรเทาปัญหาอุทกภัยด้วย เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานสนองพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงทุ่มเทพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างหนักมิทรงคำนึงถึงความเหนื่อยยากพระวรกาย นับแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ตราบจนเสด็จสวรรคต ได้ทรงวางรากฐานแนวทางการอนุรักษ์สืบสานไว้มากมายผ่านหลักการทรงงาน พระราชดำริ พระบรมราโชวาทสมควรที่พวกเราคนในรุ่นปัจจุบันจึงควรศึกษาแนวพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำและนำมาใช้เป็นแนวทางในการประพฤติตน ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรดินทรัพยากรป่าและทรัพยากรธรรมชาติในด้านต่างๆ ควบคู่ไปกับทรัพยากรน้ำ ให้คงความสมบูรณ์ดำรงอยู่สืบต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน