ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น ภาพ: สิริภูมิ ชูวงศ์ตระกูล "ลายรดน้ำท่อนฟืนไม้จันทน์ งานประณีตศิลป์ชั้นสูง ในพระราชพิธีพระบรมศพ รัชกาลที่ 9" ไม้จันทน์ ถือเป็นต้นไม้มงคลที่มีกลิ่นหอม หายาก จึงถือกันว่าเป็นไม้ชั้นสูง “ด้วยเหตุที่เนื้อไม้จันทน์มีกลิ่นหอมอ่อนๆ เนื้อไม้แข็ง มีความละเอียด จึงนิยมนำไม้จันทน์มาสร้างพระรองประดับพระโกศ พระบรมศพ รวมทั้งใช้ทำฟืนหรือดอกไม้จันทน์ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระศพ มาแต่สมัยโบราณกาล เพื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงว่า ไม่ว่าไม้จันทน์หอมจะเป็นหรือตายก็ยังคงมีความหอม เปรียบเหมือนคนที่ตอนมีชีวิตอยู่นั้นได้ทำความดีไว้มากมาย แต่เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว ความดีนั้นก็ยังคงอยู่” (วัฒนรักษ์ , “ไม้จันทน์-ไม้จัน” รฦก , ก.ค. 60) “การนำไม้จันทน์มาใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือที่เรียกว่า “ฟืน” ในอดีตนิยมใช้กัน หากแต่งานพระราชทานเพลิงพระศพ ในสมัยรัชกาลที่ 9 ที่ผ่านมาสองครั้งหลังคือ พระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ไม่ได้ถวายพระเพลิงในลักษณะการสุมไฟแบบโบราณแล้ว หากแต่ใช้เป็นเตาถวายพระเพลิงที่มีความมิดชิดแทน แต่ก็ยังใช้ไม้จันทน์ในพระราชพิธีดังกล่าวเพื่อประกอบพระเกียรติยศเท่านั้น” (วัฒนรักษ์ , “ไม้จันทน์กับงานศพ” รฦก , ก.ค. 60) ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ได้ใช้ไม้จันทน์หอมที่ยืนต้นตายอยู่ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี นำมาจัดทำฐานรองพระโกศจันทน์ (พระหีบจันทน์) พระโกศไม้จันทน์ ท่อนฟืนไม้จันทน์ และช่อไม้จันทน์ โดยแต่ละชิ้นงานมีลายประกอบ ตามที่ผู้ออกแบบลายกำหนด สำหรับในที่นี้กล่าวเฉพาะท่อนฟืนไม้จันทน์ ในมุมลายรดน้ำ โดยอาจารย์สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ผู้ออกแบบกำหนดลาย ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง ลงรักปิดทองตามแบบศิลปะลายรดน้ำ จัดทำทั้งหมด 24 ท่อน ขนาดหน้ากว้าง 2 นิ้ว ยาว 60 เซนติเมตร ส่วนผู้เขียนลาย ยิ่งพันธุ์ ปิยาเล่ห์ธนกาญจน์ นักวิชาการช่างศิลป์ปฏิบัติการ และ ธราธร แก้วสโนด นายช่างศิลปกรรม ยิ่งพันธุ์ ปิยาเล่ห์ธนกาญจน์ กล่าวศิลปะลายรดน้ำท่อนฟืนไม้จันทน์ครั้งนี้ “ใช้เทคนิคตามแบบศิลปะลายรดน้ำ ใช้น้ำยาหรดาลในการเขียนลาย นำของโบราณ ได้แก่ กาวกระถิน หินหรดาล ฝักส้มป่อย และลูกประคบมาผสมกัน ถือเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูง วิจิตรงดงามสะท้อนถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจิตรกรรมไทย สมพระเกียรติสูงสุด ดังนั้น ในการทำค่อนข้างละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลาในการเขียนลายลงบนท่อนฟืนพอสมควร เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 ท่อน” (ครั้งที่สาธิตเขียนลายรดน้ำท่อนฟืนไม้จันทน์ ที่โรงพระโกจันทน์ ท้องสนามหลวง มี.ค. 60) ขณะที่ห้องเขียนลายรดน้ำ สำนักช่างสิบหมู่ จ.นครปฐม ธราธร แก้วสโนด นายช่างศิลปกรรม กำลังใช้พู่กันบรรจงเขียนลายลงบนท่อนฟืนไม้จันทน์ กล่าวความคืบหน้าว่า “ถึงตอนนี้ ผมและคุณยิ่งพันธุ์ ดำเนินการเขียนลายรดน้ำเสร็จไปแล้ว 20 ท่อน และทางจิตอาสา อนุรักษ์ ศรีใสชนธัญ และท่านอื่นๆ เข้ามาช่วยปฏิบัติงานดำเนินการอยู่” ในความวิจิตรงดงามของลายรดน้ำท่อนฟืนไม้จันทน์ ประกอบด้วยลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง ลายกรวยเชิง ลายหน้าฟืน ตั้งวางเรียงโชว์อยู่ในห้องและเบื้องหน้าของนายช่างศิลปกรรมผู้นี้กำลังเขียนลาย ชวนให้อยากรู้เบื้องหลังกระบวนการกรรมวิธีขั้นตอนลายรดน้ำท่อนฟืนไม้จันทน์ ‘ธราธร’ ร่ายให้เห็นภาพแบบเข้าใจง่ายๆ "ถ้าพูดถึงในเรื่องการเตรียมน้ำยาหรดาล เพื่อนำมาเขียนบนท่อนฟืน จะต้องมีการเตรียมวัสดุต่างๆ เช่น ยางกระถิน หินหรดาล ฝักส้มป่อย โดยในส่วนของหินหรดาลจะเป็นก้อน เราต้องมาบดตำให้เป็นผงก่อนนำไปใช้ แต่ว่าในหินหรดาลจะมีความเค็มจะไปทำลายพื้น ทำให้พื้นด่าง ดังนั้น ลดความเค็มด้วยการไปแช่น้ำ และถ่ายน้ำใหม่ทุกสัปดาห์ ยิ่งถายน้ำบ่อยและแช่น้ำไว้เป็นระยะเวลานานหลายๆ เดือนยิ่งดี อย่างน้อยใช้ระยะเวลา 3 เดือนขึ้นไป เพื่อที่ลดความเค็มหรดาลให้มากที่สุด จึงจะนำมาใช้ได้ เมื่อจะนำมาใช้ เอาส่วนผงนั้นมาผสมกับน้ำฝักส้มป่อย แล้วนำไปต้ม เพื่อที่นำน้ำที่ได้จากการกรองมาใช้ เนื่องจากในน้ำส้มป่อยมีฤทธิ์ที่สามารถจะไปทำลายความเค็มของหรดานได้ ดังนั้น ต้องให้เกิดค่าเป็นกลาง เวลาเขียนจะได้ไม่กัดพื้น ส่วนยางกระถิน (กระถินพันธุ์ต่างประเทศ) นำมาบดเป็นผง แล้วนำน้ำที่ต้มสุกร้อนๆ มาละลายทำเป็นน้ำกาว เพื่อเป็นตัวยึดเกาะ นั่นก็คือกาวกระถิน เรานำ 3 อย่างนี้มาปรุงผสมเสร็จเรียบร้อยแล้ว นำมาทดลองระบายที่พื้น เมื่อแห้งให้มือถูดู แล้วยังหลุดอยู่ ต้องใส่กาวลงไปอีก จนกว่าถูแล้วไม่หลุด เพราะว่ามันมีผลตอนเช็ดรัก จะต้องออกแรงกวดหรือถู จะทำให้หรดาลที่เขียนลวดลายบนพื้นหลุดได้" ‘ธราธร’ ช่างลายรดน้ำอธิบายต่อ หลังจากปรุงน้ำยาได้ที่แล้ว จะมาเขียนลงบนท่อนฟืน จะต้องมีการฉลุลายลงบนกระดาษไข ที่ผู้ออกแบบได้กำหนดลายไว้ นำกระดาษไขมาทาบ นำเข็มมาบุให้เป็นรูๆ เป็นลายเส้นตามลวดลายออกมา จากนั้นนำลายที่ได้มาวางบนชิ้นงาน แล้วใช้ลูกประคบฝุ่นแป้ง หรือช่างโบราณจะใช้ลูกประคบดินสอพองไปบดเผาไฟ เพื่อเป็นการไล่ความชื้นออกมาจากดินสอพอง จะได้เบา มาถูโรยลงบนกระดาษไข แต่ครั้งนี้ใช้ฝุ่นแป้ง ประคบลงไปตามรู ปรากฏลายออกมา แล้วใช้พู่กันจุ่มลงในหรดาล เขียนลงไปบนลายเส้นตามที่ต้องการ เสร็จแล้วถมในส่วนที่เป็นช่องไฟ บริเวณที่เราไม่ต้องการให้ตอนปิดทองโดนปิดเอาไว้ ส่วนไหนที่จะต้องปิดทองจะเว้นไว้ เมื่อถมลวดลายเสร็จจะมาเช็ดรัก จะแตกต่างจากการลงรัก ยางรักนี้ จะต้องเอาไปตั้งไฟเคี่ยวความร้อน เพื่อที่จะไล่ความชื้นที่อยู่ในยางรักออกให้หมด เพราะว่าความชื้นน้ำในยางรัก เวลาเราไปเช็ดมันจะละลายในหรดาลที่เขียนอยู่ ดังนั้น ต้องเช็ดรักให้ทั่วทั้งท่อนฟืน เพื่อให้ยางรักเหลือบนพื้นที่น้อยที่สุด เพราะหากเหลือเยอะเกินไป ยังฉ่ำๆ อยู่ เวลาปิดทองมันจะช้ำหรือจม จึงต้องเช็ดรักออกให้มากที่สุด เหลือบางๆ แต่ถ้าออกมากเกินไป เวลาปิดทองจะไม่ติด จะหลุด ต้องให้เกิดความพอดี ฉะนั้นแล้ว คนที่ทำจะสัมผัสรู้ว่าระยะนี้พอดี คือต้องอาศัยประสบการณ์ ประการสำคัญ ในวันที่เราปิดทอง จะต้องเป็นวันที่อากาศไม่ชื้น ยิ่งวันที่ฝนตกด้วยแล้วห้ามเลย เพราะว่าอากาศชื้นไม่ได้ จะมีผลตอนที่เราเช็ดรัก ปิดทอง เพราะว่าหรดานที่ผสมกันอยู่มันดูดความชื้นในอากาศไว้ เกิดการละลาย ดังนั้น จะทำในช่วงที่อากาศร้อนๆ แห้งๆ หรืออุณหภูมิเหมาะพอดี จึงจะปิดได้ จึงต้องดูอากาศเป็นหลัก หลังจากทำการเช็ดรักปิดทองเสร็จแล้ว ไปสู่ขั้นตอนลายรดน้ำ คือล้างน้ำ ล้างหรดาลที่เราเขียนออกไปจะปรากฏเป็นลายทอง อย่างที่เรียกกัน ลายรดน้ำ ธราธร แก้วสโนด นายช่างศิลปกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กล่าวด้วยว่า การเขียนลายรดน้ำถือเป็นภูมิปัญญาไทยมาแต่โบราณ เรียนรู้ ถ่ายทอดวิชากันมาจากรุ่นสู่รุ่นในงานช่างศิลปะไทย ลายรดน้ำท่อนฟืนไม้จันทน์ งานประณีตศิลป์ชั้นสูง ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9