การประกอบอาชีพของเกษตรกรชาว จ.กาฬสินธุ์ ในยุคที่ต้องปรับตัวตามสถานการณ์เพื่อความอยู่รอด โดยพบเกษตรกรรุ่นใหม่ ชาว ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นางสาวพิมพิไล ชื่นเมือง อายุ 25 ปี บ้านเลขที่ 120 หมู่ 3 บ้านนาเชือก ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยทำนา ปลูกมันปะหลังและอ้อย จำนวน 30 ไร่ เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงแกะเนื้อ เพื่อจำหน่าย นางสาวพิมพิไล เล่าว่า พื้นที่แปลงนี้เดิมพ่อแม่ทำเป็นไร่ปลูกมันสำปะหลังและปลูกอ้อย บางส่วนซึ่งเป็นที่ลุ่มทำนา ซึ่งประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่สูงและราคาตกต่ำ เมื่อตนจบการศึกษาในระดับ ปวส.สาขาการตลาดฯ จากสถาบันอาชีวะศึกษาแห่งหนึ่งที่ จ.ลำปาง และได้รับการมอบกรรมสิทธิ์ทำกินในที่ดินแปลงนี้ ทั้งทราบทิศทางการตลาดว่าเนื้อแกะเป็นที่นิยมของชาวมุสลิม รวมทั้งชาวไทยบางกลุ่ม และเป็นที่ต้องการของตลาด สปป.ลาวและเวียดนามเป็นอย่างมาก ซึ่งสามารถแปรรูปเป็นอาหารขึ้นโต๊ะได้หลายเมนู โดยเฉพาะแกะหัน ให้เนื้อที่เหนียวแน่น ติดมัน หอมกรุ่น แถมราคายังถูกกว่าเนื้อวัว โดยจะจับแกะขายส่งให้กับผู้รับซื้อตัวเป็น ๆ ราคากิโลกรัมละ 110 บาท แกะอายุ 4 เดือนจะมีน้ำหนักจะอยู่ที่ 30-40 กิโลกรัม “การทำเกษตรในยุคนี้เริ่มตัน มีปัญหาทั้งค่าปุ๋ย ค่าแรง ความยุ่งยากในการจัดการ ใช้เวลานานกว่าที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิต เสี่ยงต่อการได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และราคารับซื้อไม่แน่นอน จึงได้หันมาเลี้ยงแกะฝูง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ ในช่วง 1 ปีแรกนี้เริ่มต้นจากซื้อพ่อพันธุ์มา 1 ตัว ราคา 12,000 บาท แม่พันธุ์ 1 ตัว ราคา 4,500 บาท ก่อนที่จะขยายพันธุ์และซื้อมาเพิ่มอีกส่วนหนึ่ง เพศเมียตัวหนึ่งๆจะให้ลูกปีละ 3 รุ่น รุ่นละ 2-3 ตัว ขณะนี้มีแพะที่เลี้ยงในฝูง 20 ตัว ซึ่งเลี้ยงง่ายมาก อาหารก็กินหญ้า กินใบไม้ โดยเฉพาะใบต้นกระถิน ซึ่งหาได้ง่ายตามหัวไร่ปลายนา ที่สำคัญปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ จึงเป็นแกะอินทรีย์ สุขภาพแข็งแรง เนื้อแน่น น้ำหนักตัวดี มีตลาดรับซื้อหลายแห่ง โดยผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งประกันราคาชัดเจน ทั้งนี้เคยทดลองส่งขายแล้วหลายรุ่น คือจะส่งขายเมื่อแกะมีอายุ 4 เดือน จะมีพ่อค้าคนกลางมารับถึงที่ โดยจะรับส่งลูกค้าเที่ยวละ 3-4 ตัน ตลาดรับซื้อที่แหล่งใหญ่ที่ สปป.ลาว และเวียดนาม รวมทั้งชาวมุสลิมภายในประเทศไทยบางส่วน” เมื่อทดลองเลี้ยงแพะ 1 ปี มองเห็นอนาคตที่จะไปได้ดีกว่าการทำเกษตรอย่างอื่น เพราะลงทุนครั้งเดียวแต่ได้ผลกำไรคุ้มค่า สามารถขยายพันธุ์และต่อยอดได้รวดเร็ว ทันใจ จึงตั้งใจไว้ว่าจะสั่งซื้อลูกแพะมาขุนอีกจำนวน 50 ตัว และนอกจากนี้ยังยินดีที่เปิดประตูให้ประชาชน นักท่องเที่ยว เข้ามาเที่ยวชม ป้อนใบไม้ ให้อาหารแพะ เพื่อเป็นจุดท่องเที่ยวในชุมชนอีกแห่งหนึ่ง หรือหากสนใจจะซื้อลูกแพะไปเลี้ยงก็ยินดี และพร้อมที่จะรับซื้อคืนเมื่ออายุถึงช่วงส่งตลาดอีกด้วย การเลี้ยงแพะเนื้อ เพื่อจำหน่ายดังกล่าว จึงคาดว่าจะเป็นอาชีพทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืน และมีรายได้ที่มั่นคงกว่าการทำการเกษตรอย่างอื่น ณัฐพงษ์ ประชากูล /กาฬสินธุ์