หลักธรรมแห่งพระราชา พระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนานับว่ามีความผูกพันเกี่ยวข้องกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยโบราณจะต้องทรงประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบแห่งระเบียบวินัยและแบบแผนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องทรงศึกษาและปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ตลอดถึงหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา โดยหลักธรรมคำสอนที่ถือเป็นหนึ่งในหลักการปกครองบริหารบ้านเมือง เพื่ออำนวยประโยชน์ให้แก่ราษฎร หรือเรียกว่าเป็นธรรมสำหรับพระราชานั้น ได้แก่ ทศพิธราชธรรม 10 จักรวรรดิวัตร 12 และราชสังคหวัตถุ 4 ซึ่งนับเป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ที่ได้ทรงบำเพ็ญคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างใหญ่หลวง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงยึดมั่นในหลักธรรมแห่งพระราชาและทรงให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนอย่างละเอียดถี่ถ้วนเช่นที่ทรงสอดแทรกหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไว้ในพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆ ดังพระราชดำรัสลาผนวชต่อราษฎร ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2499 ความตอนหนึ่งว่า “...อันพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของเรานี้ตามความอบรมที่ได้รับมาก็ดี ตามความศรัทธาเชื่อถือส่วนตัวของข้าพเจ้าก็ดีเห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง มีคำสอนให้คนประพฤติตนเป็นคนดี ทั้งเพียบพร้อมด้วยบรรดาสัจธรรมอันชอบด้วยเหตุผลน่าเลื่อมใสยิ่งนัก ข้าพเจ้าจึงเคยคิดอยู่ว่า ถ้าโอกาสอำนวยก็น่าจะอุปสมบทในพระศาสนาตามพระราชประเพณีสักเวลาหนึ่ง ซึ่งจักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบุรพการีตามคตินิยมอีกโสตหนึ่งด้วย...” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ นำสู่ความสามัคคีและเป็นน้ำหนึ่งน้ำใจเดียวกันของคนไทยทั้งแผ่นดิน โดยทรงเป็นพระธรรมราชา และทรงสนพระราชหฤทัยในพระธรรมมา ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ดังจะเห็นได้จากพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลในโอกาสต่างๆ ล้วนแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความเข้าใจในธรรมอย่างลึกซึ้ง ดังเช่นที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวัฑฒโน) ได้ทรงบอกเล่าถึงความสนพระราชหฤทัย ในพระพุทธศาสนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ ความตอนหนึ่งว่า “...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกิจทางพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์มาตั้งแต่พระชนมพรรษายังน้อย ดังที่ได้เคยทราบว่า ได้ทรงพอพระพระราชหฤทัยในการฟังเทศน์ที่มีอยู่เป็นประจำ ในคราวบำเพ็ญพระราชกุศลถวายที่พระบรมศพรัชกาลที่ 8 แม้จะเป็นเทศน์กัณฑ์ยาว ก็ทรงพอพระราชหฤทัยฟัง ทรงเริ่มสนพระราชหฤทัยในพระพุทธศาสนา เมื่อได้ทรงพบปะกับพระมหาเถระผู้ใหญ่ ก็มีพระราชปุจฉาและทรงสดับข้อธรรมนั้น ๆ อยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะได้มีโอกาสเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดบวรนิเวศวิหาร (ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์) ได้ทรงสดับฟังธรรมเป็นครั้งคราวตลอดมา ทำให้ทรงเข้าพระราชหฤทัยในธรรม และสนพระราชหฤทัยในพุทธศาสนามากขึ้น...” พระราชจริยาวัตรและพระราชดำริที่แสดงให้เห็นประจักษ์ชัดถึงความศรัทธามุ่งมั่นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9ทรงมีต่อพุทธศาสนา และความสนพระทัยในการปฏิบัติและเผยแผ่ทำนุบำรุงพุทธศาสนา และทรงดำรงพระองค์เป็นแบบอย่างของพุทธมามกะที่ดีมาตลอด โดยยังได้ทรงอธิบายหลักการปฏิบัติสมาธิได้อย่างลึกซึ้งมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไม่เพียงแต่ทรงศึกษาธรรมเท่านั้น แต่ยังทรงปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังด้วย ดังเช่น พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานมหกรรมกีฬามหากุศล ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2524 ความตอนหนึ่งว่า “...ถ้าเราทำกรรมดี เราก็เจริญได้ เราก็มีทางที่จะมีอนาคตแจ่มใส ความจริงอนาคตของเรา ก็อยู่ที่ปัจจุบันที่เราทำอยู่นี้ ถ้าเราทำปัจจุบันให้ดี อนาคตก็คงดี ถ้าเราละเลยไม่ทำอะไรเลยข้างหน้าก็คงไม่มีอะไรเลย...” พระบรมราโชวาทพระราชทานในพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2522 ความตอนหนึ่งว่า “...ในจิตใจของคนไทยทุกคนมีเชื้อของความดี ที่ได้นำพวกเราทั้งหลายมาอยู่ในฐานะที่มั่นคง ที่ก้าวหน้า ที่เจริญจนทุกวันนี้ ถ้าเราไม่มีความดีอยู่ในตัว ก็เข้าใจว่าประเทศไทยคงไม่ได้มีอายุยืนนานเช่นนี้...” พระบรมราโชวาทพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2535 ความตอนหนึ่งว่า “...หลักของคุณธรรม คือ การคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลางก่อนจะพูดจะทำสิ่งไร จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อนเพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และให้จิตสว่างแจ่มใส ซึ่งเมื่อฝึกหัดจนคุ้นเคยชำนาญแล้ว จะกระทำได้คล่องแคล่ว ช่วยให้สามารถแสดงความรู้ ความคิดในเรื่องต่างๆ ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ได้ชัดไม่ผิดทั้งหลักวิชาทั้งหลักคุณธรรม...” ทศพิศราชธรรม 10 คือ ธรรมที่ใช้พระราชอำนาจและการบำเพ็ญประโยชน์ต่ออาณาประชาราษฎร์ ประกอบด้วย (1) การให้ (2) การสำรวมในศีล (3) การสละประโยชน์ส่วนตน (4) ความซื่อตรง (5) ความอ่อนโยน (6) ความเพียร (7) การระงับความโกรธ (8) ความไม่เบียดเบียน (9) ความอดทน และ (10) การแน่วแน่ในความถูกต้อง จักรวรรดิวัตร 12 คือ ธรรมอันเป็นพระราชจริยานุวัตร ทรงถือและอาศัยธรรมข้อนี้เป็นหลักสำหรับการปกครองประเทศ ประกอบด้วย (1) ควรอนุเคราะห์คนในราชสำนักและคนภายนอกให้มีความสุข ไม่ปล่อยปละละเลย (2) ควรผูกมิตรไมตรีกับประเทศอื่นๆ (3) ควรอนุเคราะห์พระราชวงศานุวงศ์ (4) ควรเกื้อกูลพราหมณ์ คหบดีและคฤหบดีชน (5) ควรอนุเคราะห์ประชาชนที่อยู่ในชนบท (6) ควรอนุเคราะห์สมณพราหมณ์ผู้มีศีล (7) ควรจักรักษาฝูงเนื้อ นกและสัตว์ทั้งหลายมิให้สูญพันธุ์ (8) ควรห้ามชนทั้งหลายมิให้ประพฤติผิดธรรมและชักนำด้วยตัวอย่างให้อยู่ในกุศลสุจริต (9) ควรเลี้ยงดูคนจน เพื่อมิให้ประกอบการทุจริตและอกุศลต่อสังคม (10) ควรเข้าใกล้สมณพราหมณ์เพื่อศึกษาบุญและบาป กุศล และอกุศลให้แจ่มชัด (11) ควรห้ามจิตมิให้ต้องการไปในที่ที่พระมหากษัตริย์ไม่ควรเสร็จ และ (12) ควรระงับความโลภมิให้ปรารถนาให้ลาภที่พระมหากษัตริย์มิควรจะได้ ราชสังคหวัตถุ 4 คือพระราชจริยานุวัตรอันเป็นที่ยึดเหนี่ยวนำใจประชาชนสำหรับเป็นแนวทางในการวางนโยบายปกครองบ้านเมือง เป็นหลักธรรมอันเป็นเครื่องช่วยในการวางนโยบายบริหารบ้านเมืองให้ดำเนินไปด้วยดีมีดังนี้ (1) สัสสเมธะ คือ ความเป็นผู้ฉลาดปรีชาในการพิจารณาถึงผลิตผลอันเกิดขึ้นในแผ่นดิน แล้วพิจารณาผ่อนผันจัดเก็บเอาแต่บางส่วนแห่งสิ่งนั้น (2) ปุริสเมธัง คือ ความเป็นผู้ฉลาดในการดูคนสามารถเลือกแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในความถูกต้องและเหมาะสม รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ (3) สัมมาปาสะ คือ การบริหารงานให้ต้องใจประชาชน ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ และ (4) วาจาเปยยะ คือ ความเป็นบุคคลมีวาจาไพเราะรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวตามเหตุการณ์ ตามฐานะและตามความเป็นธรรม เป็นวาจาอันประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใจอันดีและความนิยมเชื่อถือ เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิตาและตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้วที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย จึงอยากชวนคนไทยศึกษาพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสที่พระราชทานเนื่องในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของความดี การทำความดี ประพฤติ ปฏิบัติตนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีความสามัคคีปรองดอง และการมีไมตรีระหว่างกัน เพื่อดำรงตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีและเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาสังคมไทยให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง ยั่งยืน สู่ความร่มเย็นเป็นสุขร่วมกันต่อไปเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล