จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ดังนั้นทาง สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ จึงได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายภาคการศึกษาด้านไมซ์พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม DMC และ IVA สร้างความรู้ความเข้าใจมาตรฐานการติดตาม ควบคุม และประเมินผลด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำหรับนักเดินทางต่างชาติเพื่อป้องกันโควิด 19 รองรับธุรกิจไมซ์ ซึ่งหลักสูตรและการฝึกอบรมดังกล่าว เป็นการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้แก่บุคลากร และมาตรการการติดตาม ควบคุม กำกับ และประเมินผลด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในโครงการ MICE Hygiene Discipline Guidelines (แนวปฏิบัติด้านสุขอนามัย สำหรับอุตสาหกรรมไมซ์) ที่จัดขึ้นช่วงที่ผ่านมา ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยทีเส็บ และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้เครือข่ายภาคการศึกษาไมซ์ (MICE Academic Cluster) ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรนี้ขึ้น เป็นการยกระดับศักยภาพการบริการด้านการจัดการเดินทางในรูปแบบใหม่ของบริษัทที่ดูแลบริหารการเดินทาง หรือ Destination Management Company (DMC) และบุคลากรด้านการบริการลูกค้าชาวต่างชาติ หรือ International Visitor Assistant (IVA) ศุภวรรณ ตีระรัตน์ นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) หรือ ศบค. เรื่องข้อตกลงความร่วมมือช่องทางพิเศษ (Special Arrangement) เพื่ออนุญาตให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทยเดินทางเข้ามาในประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ตามข้อตกลงพิเศษกับต่างประเทศ (ยกเว้นการกักตัว 14 วัน) ที่มีการระบุเงื่อนไขต่างๆ ของการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยของชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในระยะสั้น โดยกำหนดโควต้าจำนวนผู้เดินทาง และมาตรการที่ผู้เดินทางต้องปฏิบัติตามทั้งก่อนการเดินทางและระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งทีเส็บได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงต่างประเทศ นำเสนอขั้นตอนการอนุญาตเข้าประเทศ โดยต้องมีผู้ติดตามทางการแพทย์สาธารณสุข และบริษัทที่ดูแลบริหารการเดินทาง หรือ DMC (Destination Management Company) เพื่อจัดและบริหารแผนการเดินทาง สำหรับนักธุรกิจที่เดินทางเข้ามาในระยะสั้นแบบไม่กักตัว ตั้งแต่ก่อนเดินทาง ระหว่างเดินทาง และหลังการเดินทางกลับประเทศ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างมาตรฐานการบริการด้านความปลอดภัย ถูกสุขอนามัย เรียนรู้เกี่ยวโควิด 19 และการป้องกัน ผนวกกับการให้บริการที่ต้องรักษามาตรฐานไม่ให้เสียชื่อในฐานะเจ้าบ้านที่ดีที่มีการบริการได้มาตรฐาน Beyond Expectation ตามแบบ Thai Hospitality ที่มีชื่อเสียง และสิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างงานแก่บริษัทให้บริการต่างๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ไกด์ที่จะยกระดับความสามารถ หรือ Re-Skill ตามนโยบายของภาครัฐ เตรียมความพร้อมรองรับธุรกิจในอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป โอภาส การย์กวินพงศ์ ด้าน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบการติดตามตัวและการสืบสวนโรคที่ดีจนนำไปสู่การตรวจหาโรคในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงได้ทันเวลาและสามารถควบคุมไม่ให้โรคแพร่กระจายเป็นวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมควบคุมโรคหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้นำความรู้ เทคนิค และประโยชน์ต่างๆ ที่ได้จากการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้แก่บุคลากร และมาตรการการติดตาม ควบคุม กำกับ และประเมินผลด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในโครงการ MICE Hygiene Discipline Guidelines ในครั้งนี้ ไปใช้ในการปฏิบัติจริงให้เกิดประโยชน์สูงสุด และขอสนับสนุนส่งเสริมการเดินทางกลุ่มไมซ์ ปลอดภัยไร้โรค ในอนาคตอันใกล้นี้ ปัญจพล เหล่าพูนพัฒน์ ส่วน นายปัญจพล เหล่าพูนพัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะที่ได้รับนโยบายจากทีเส็บ ซึ่งเป็นผู้บริหารการจัดการอบรมในครั้งนี้ กล่าวว่า การฝึกอบรมดังกล่าวมุ่งเน้นอบรมให้เกิดองค์ความรู้ ความสามารถ และทักษะด้านต่างๆ ได้แก่ 1.มีความรู้ ความเข้าใจ การคัดกรองผู้ติดเชื้อและทักษะด้านสาธารณสุขเบื้องต้น 2.มีความรอบรู้และทักษะการบริการ การเป็นเจ้าบ้านที่ดี และการประสานงาน 3.มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ (English for Specific Purpose: ESP) เพื่อการสื่อสารและเจรจาต่อรองกับคณะ/ผู้ไม่มีสัญชาติไทยตลอดการเดินทางในประเทศไทยอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถสื่อสารข้ามวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสม 4.มีความรู้ ความเข้าใจระบบการเข้าเมือง และการจัดการข้อมูลของผู้เดินทางจากต่างประเทศ และ 5.มีทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เคารพความหลากหลายและยอมรับในความแตกต่าง รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ตลอดจนมีคุณธรรมจริยธรรม ไม่เปิดเผยความลับของผู้ถูกคุมไว้สังเกตจากต่างประเทศให้ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับทราบ โดยมุ่งเน้นพัฒนาองค์ความรู้สู่บุคลากร บริษัทดูแลบริหารการเดินทาง หรือ Destination Management Company (DMC) และบุคลากรด้านการบริการลูกค้าชาวต่างชาติ หรือ International Visitor Assistant (IVA) โดยมีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมในครั้งนี้กว่า 150 ท่าน