“คสช.”งัด ม.44 ชะลอ 4 มาตรากฎเหล็ก!“ปรับโหด –จำคุก”ใน “พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว60” ยืดถึงต้นปี61 หวัง 15 วันทยอยลงทะเบียนถูกกม. เตรียมตั้ง “ศูนย์เบ็ดเสร็จ” เฟส 2 ดึง “พม่า – เขมร” ร่วมไทยกรองรง. แก้เสียเวลากลับปท.ต้นทาง ด้าน “ลาว” รอไปก่อน ยังตกลงไม่ได้ เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 25 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า สืบเนื่องจากการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ปี 2560 ใน 4 มาตรา ได้แก่ มาตรา 101,102,119 และ 122 เมื่อวันที่ 23มิ.ย.ที่ผ่านมา ถือว่ามีโทษค่อนข้างรุนแรงถึงจำคุก และปรับเงินในอัตราที่สูงถึง เกี่ยวกับนายจ้าง รวมถึงลูกจ้างแรงงานที่ไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลแรงงานต่างด้าวยังพบว่ามีแรงงานจำนวนไม่น้อยที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่างไม่ถูกกฎหมาย คสช. จึงออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อชะลอการบังคับใช้ใน 4 มาตราดังกล่าว จากเดิมที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นวันที่ 1 ม.ค. 2561 เพื่อให้นายจ้าง แรงงานได้ตรวจสอบตัวเองว่าทำถูกกฎหมายแล้วหรือไม่ หากเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ต้องกลับไปประเทศต้นทาง เพื่อไปดำเนินการทำพาสปอร์ตแล้วค่อยกลับมาใหม่ ขณะเดียวกันหากแรงงานเข้ามาโดยถูกกฎหมาย แต่ใบอนุญาตทำงานยังไม่ถูกกฎหมาย เช่น สังกัดบริษัทหนึ่งแต่ไปทำงานอีกบริษัทหนึ่ง หรือทำงานอยู่จังหวัดหนึ่ง แต่ไปทำงานอีกจังหวัด ไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง แต่สามารถไปแก้ไขรายละเอียดได้ที่สำนักงานจัดหาแรงงานทั่วประเทศ พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า เมื่อดำเนินการเช่นนี้แล้ว แต่ยังมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะขาดแรงงานในตลาด เพราะแรงงานกับนายจ้างอาจไม่ได้วางแผนเดินทางกลับเพื่อไปทำหลักฐานให้ถูกต้องที่ประเทศต้นทาง ซึ่งใช้เวลาเฉลี่ยประมาณไม่เกิน 2 เดือน ส่งผลให้เกิดการอยู่ทำงานจนเกินเวลา ซึ่งรัฐบาลไม่ประสงค์ที่จะให้ใครทำผิดกฎหมาย แต่อยากจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในสังคม สามารถควบคุมได้ และได้รับสวัสดิการตามสมควร จึงสั่งการให้กระทรวงแรงงานดำเนินการเปิดรับลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายทั่วประเทศ รวมถึงใน กทม.11 จุด ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.–7 ส.ค.60 ถือเป็นการเก็บข้อมูลความสัมพันธ์ต่างๆระหว่างนายจ้าง และแรงงาน จากนั้นขั้นตอนต่อไปจะมีการเปิดศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศพม่าและกัมพูชา หากเข้ามาผิดกฎหมายกะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง แต่กระทรวงแรงงานได้เจรจากับทั้ง 2ประเทศ จนได้ข้อสรุป สามารถส่งเจ้าหน้าที่ของ 2ประเทศเข้ามาตั้งศูนย์ฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของไทยได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง ส่วนแรงงานจากประเทศลาวยังหาข้อตกลงไม่ได้ ดังนั้นหากแรงงานลาวเข้าเมืองมาไม่ถูกกฎหมายก็จะต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางไปก่อน อย่างไรก็ตามศูนย์ฯดังกล่าวจะอยู่ถึงวันที่ 31 มี.ค.61 เท่านั้น ถือเป็นการแก้ปัญหาแรงงานขาดตลาดให้บรรเทาลงมา และนายกรัฐมนตรียังได้ฝากให้สื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์เพื่อให้แรงงานต่างด้าวทั้งหมดได้รับรู้ข่าวสาร ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย