คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หลายคนกังวลว่าจะขับรถได้หรือไม่ และมีข้อปฏิบัติอย่างไรให้ปลอดภัยสูงที่สุด พญ.พลอยนิล พุทธาพิทักษ์พงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ รพ.พระรามเก้า ให้คำตอบว่า สามารถขับรถยนต์เองได้ โดยต้องเพิ่มความระมัดระวังเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ ช่วงเวลาที่ต้องระวังมากพิเศษ มี 2 ช่วง ได้แก่ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ช่วงนี้การเปลี่ยนแปลงขนาดหน้าท้องยังไม่มากก็จริง แต่หลายคนอาจแพ้ท้อง วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียนมากเวลาเดินทาง และยังสุ่มเสี่ยงต่อการแท้ง หรือมีปัญหาแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ง่าย แม้การขับรถไม่ได้เพิ่มโอกาสแท้ง แต่หากเกิดปัญหาระหว่างขับขี่จะเพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุเป็นอันตรายต่อทั้งแม่และลูกในครรภ์ได้ ส่วนช่วงไตรมาสสุดท้ายคือ ก่อนคลอดในเดือนที่ 7-9 ไม่เดินทางไกล เพราะใกล้คลอดเต็มที หรือหากยังต้องทำงานประจำก็สามารถขับรถหรือเดินทางระยะใกล้ได้ แต่ต้องระมัดระวังอย่างมาก ไม่ขับเร็วเกิน 80 กม.ชั่วโมง หากเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน จะได้หยุดรถได้ทันท่วงทีช่วยลดความรุนแรงได้ ควรหลีกเลี่ยงนั่งชิดพวงมาลัยมากเกินไป ปรับเบาะให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ ห่างจากพวงมาลัย 10-12 นิ้ว อยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นเส้นทางชัดเจน มือสามารถหมุนพวงมาลัย เท้าเหยียบเบรค-คันเร่งได้ถนัด การคาดเข็มขัดนิรภัย ให้แนวแทยงของเข็มขัดคาดผ่านร่องอกไปตามแนวโค้งของท้อง ส่วนแนวนอนของเข็มขัดอยู่เหนือต้นขา และกระดูกเชิงกราน ห้ามคาดทับหน้าท้องตำแหน่งของมดลูกโดยตรง ก่อนเดินทาง ควรเช็คลมยาง แบตเตอรี่ หม้อน้ำ น้ำมันเครื่องทุกครั้ง เพียงเท่านี้ คุณแม่ก็สามารถขับขี่รถยนต์ได้อย่างปลอดภัย เดินทางโดยสวัสดิภาพ...