นายประยูร อินสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วยนายสุชาติ แก้วสะอาด สหกรณ์จังหวัดลำพูนและคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกลุ่มเกษตรกรทำสวนอินทรีย์ชีวภาพตำบลเหมืองง่า เพื่อพบปะสมาชิกและติดตามการดำเนินงานของกลุ่มฯ โดยมีนายมงคล ทองกลาง ประธานกรรรมการกลุ่มฯ และสมาชิก ให้การต้อนรับ ณ ที่ทำการกลุ่มเกษตรกรทำสวนอินทรีย์ชีวภาพตำบลเหมืองง่า ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน นายประยูร อินสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า การดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกรทำสวนอินทรีย์ชีวภาพตำบลเหมืองง่า มีจุดเด่น คือ ความเข้มแข็งจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกในด้านการทำธุรกิจและการทำกิจกรรมของกลุ่มฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด กับรางวัลการันตีที่ได้รับประกาศเกียรติคุณการเป็น "กลุ่มเกษตรกรดีเด่นระดับภาค" จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ เมื่อปี 2558 และเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ขับเคลื่อนและน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจการ การดำเนินชีวิต ทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ของสมาชิกและผู้ที่สนใจทั่วไป ด้าน นายสุชาติ แก้วสะอาด สหกรณ์จังหวัดลำพูน กล่าวว่า นอกจากตรวจเยี่ยมกลุ่มเกษตรกรทำสวนอินทรีย์ชีวภาพตำบลเหมืองง่า รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ยังได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมและพูดคุยแลกเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตตามบ้านของสมาชิกกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างที่สามารถประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้วส่งผลให้ชีวิตอยู่ดี กินดีขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ 1.บ้านนายศุภกิจ เต็มถุง ที่มีความเพียร คิดหาวัสดุเหลือใช้คือยางรถยนต์เสื่อมสภาพแล้วมาปรับแต่งเป็นสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านและผลิตเพื่อจำหน่ายตามความต้องการของลูกค้าหรือเพื่อนบ้านในชุมนุมที่สั่งซื้อ อาทิ กระถางดอกไม้ อ่างบัว และเลี้ยงกบคอนโดเพื่อบริโภคโดยใช้เทคนิคนำยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว จัดเรียงเป็นชั้น ๆ คล้ายคอนโดเพื่อเลี้ยงกบ ซึ่งได้ผลดี เพียงพอต่อการบริโภค และสามารถสร้างรายได้เสริมแก่ครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง บ้านนายคำเขียว นางสุวรรณ ชนะดัง คู่สามีภรรยาที่ได้รับการยกย่องเป็นบ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยจุดเด่นของการดำเนินชีวิตด้วยวิถีพอเพียง มีความพอประมาณ ปลูกผักพื้นเมืองหลากหลายชนิด เพื่อบริโภคและจำหน่าย อาทิ ถั่วฝักยาว มะนาว ถั่วพลู มะเขือ ขิง มะละกอ มะม่วง มะกรูด มะพร้าวน้ำหอม ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดมลพิษ นำเศษลูกมะพร้าวที่เหลือจากการจำหน่ายน้ำมะพร้าวมาทำแนวป้องกันปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้โรยพืชผักโดนชำระล้างในฤดูฝน สหกรณ์จังหวัดลำพูน กล่าวอีกว่า ตรวจเยี่ยมบ้านนายไพทูรย์ ทะนันชัย สมาชิกกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงเป็ด ปลา และเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจของจังหวัด รวมถึงปลูกลำไย มะม่วง ไผ่ และพืชผักสวนครัวเพื่อจำหน่ายและบริโภคในครัวเรือน สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวเป็นอย่างดี ครอบครัวพอเพียงมีความสุข และภาคภูมิใจในอาชีพที่ตนและครอบครัวดำรงอยู่ และบ้านนางศรีวรรณ วงค์นันต๊ะ สมาชิกกลุ่มเกษตรกรที่ผันอาชีพหลักจากเดิมปลูกลำไยประมาณ 5 ไร่ ในช่วงที่เกิดวิกฤติปัญหาลำไยตกต่ำจึงคิดหารายได้เสริมโดยหันมาเพราะเห็ดขาย โดยใช้พื้นที่ทำโรงเห็ดประมาณ 1 ไร่ ซึ่งพบว่า การเพาะเห็ดขายจากพื้นที่ 1 ไร่ ต่อ ปลูกลำไย 5 ไร่ ทำรายได้ไม่ต่างกันมากนัก อีกทั้ง เพาะเห็ดขายทำรายได้ได้อย่างต่อเนื่องทั้งปี และลงทุนน้อยกว่า มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ลดความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้สารเคมี จึงหันมาเพาะเห็ดเป็นอาชีพหลักจนถึงปัจจุบัน