นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ออกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิต และ สินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อดูแลไม่ให้ประชาชนบางกลุ่มที่มีความเปราะบางในการก่อหนี้จนเกินความสามารถในการชำระหนี้ หลังจากพบว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอลในสินเชื่อ 2 ประเภท เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 2.9-3 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 และ สินเชื่อครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 3.1 เมื่อไตรมาส 1 ปี 2560 ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป สำหรับผู้ขอมีบัตรเครดิตหรือผู้ขอสินเชื่อส่วนบุคคลรายใหม่ ไม่มีผลย้อนหลังถึงลูกค้าเก่า ส่วนเพดานอัตราดอกเบี้ยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เช่นกัน โดยจะมีผลบังคับกับผู้มีบัตรเครดิตทั้งรายเดิม และ รายใหม่ จำนวน 19.8 ล้านบัตร นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า มาตรการสินเชื่อบัตรเครดิต ได้กำหนดวงเงินแก่ผู้ขอมีบัตรให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ตามรายได้ต่อเดือน โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ให้ได้รับวงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ , รายได้ตั้งแต่ 30,000ถึง 50,000 บาท วงเงินไม่เกิน 3 เท่า และรายได้ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป วงเงินไม่เกิน 5 เท่า และได้ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลดลงเหลือร้อยละ 18 จากร้อยละ 20 ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินในปัจจุบันที่ต้นทุนทางการเงินต่ำลง ด้านมาตรการสินเชื่อส่วนบุคคล ได้ปรับวงเงินสินเชื่อแก่ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน วงเงินไม่เกิน 1.5 เท่า และให้ได้รับวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลไม่เกิน 3 ราย หรือ เท่ากับได้วงเงินสูงสุด 4.5 เท่า , สำหรับผู้มีรายได้ต่อเดือนเกิน 30,000 ขึ้นไป กำหนดวงเงินไม่เกิน 5 เท่า แต่ไม่จำกัดจำนวนผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่จะให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภคแต่ละราย โดยยังคงเพดานดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสูงสุดไม่เกินร้อยละ 28 เนื่องจากสินเชื่อส่วนบุคคลยังมีความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตามเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบให้ประชาชนหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบมากขึ้น เนื่องจากธปท. ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถให้วงเงินชั่วคราวกรณีที่ผู้บริโภคมีความจำเป็นฉุกเฉินต่อการดำรงชีวิต และให้กำหนดการจ่ายชำระคืนตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ที่เป็นหนี้เยอะขึ้นและมากขึ้น พบว่าคนไทยเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย คนไทยอายุ 30 ปี กว่าร้อยละ 50 เป็นหนี้ส่วนบุคคล และหนี้บัตรเครดิต และ ปริมาณ 1 ใน 5 ของคนกลุ่มช่วงอายุ 29 ปี เป็นหนี้เสีย สัดส่วนประชากรที่มีหนี้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 30 ในปี 2559 และ ปริมาณหนี้ต่อคน เพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 70,000 บาท ต่อคนในปี 2552 เป็น 150,000 บาทต่อคน ในปี 2559 และ จากคนไทยที่เป็นหนี้ 21 ล้านคน มีจำนวน 3 ล้านคน หรือ ร้อยละ 16 ที่มีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือ เป็นหนี้เสีย และพบว่าปริมาณหนี้ไม่ลดลงแม้จะเข้าสู่วัยเกษียณก็ตาม