ทล.-ทช. สนองนโยบายรัฐบาลหนุนใช้ยางพาราผสมก่อสร้าง และซ่อมบำรุงถนน หวังช่วยเหลือชาวสวนยาง และรักษาเสถียรภาพของราคายางพาราภายในประเทศ นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า นโยบายรัฐบาลจะช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง ทล. จึงได้ตอบสนองนโยบายรัฐบาล และจะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดยจะนำยางพารามาใช้ในงานที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น อีกทั้งจะศึกษาวิจัยความเหมาะสมของการนำยางพารามาเป็นส่วนประกอบหลักของอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะนำมาใช้บนทางหลวงให้มีความปลอดภัย และคุ้มค่า ก่อนนำไปประยุกต์ใช้จริงบนทางหลวง ทั้งนี้เพื่อให้มีความคุ้มค่าสูงสุด และเป็นการประหยัดงบประมาณของประเทศ ล่าสุดมอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนางานทาง สำนักบริหารบำรุงทาง สำนักอำนวยความปลอดภัย สำนักวิเคราะห์ และตรวจสอบ คิดค้น พัฒนาออกแบบสูตรยางให้มีการใช้ยางพาราให้มากขึ้น และมีความคุ้มค่าสูงที่สุด โดยสำนักวิจัยและพัฒนางานทาง ได้ร่วมกับชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมยางพาราภาคใต้ในการพัฒนาออกแบบสูตรยาง ในเบื้องต้นสามารถออกแบบสูตรยางที่มียางพาราเป็นส่วนประกอบได้ถึง NR75% และได้ทดลองผลิตเสาหลักนำทางขนาดมาตรฐานของกรมทางหลวง พบว่าเสาหลักนำทางมีน้ำหนักเสาประมาณ 40 กิโลกรัม มียางพาราผสม 30 กิโลกรัม และเนื้อยางพาราดิบเป็นส่วนประกอบจริงประมาณ 12 กิโลกรัม ซึ่งในขั้นตอนต่อไปจะทดลองคุณสมบัติทางด้านต่างๆ และทดลองติดตั้งใช้จริงในทางหลวงพร้อมทั้งพิจารณาในเรื่องของราคา อย่างไรก็ตาม สำนักวิจัยและพัฒนางานทางยังจะพัฒนาออกแบบสูตรยางโดยจะทดลองออกแบบสูตรยาง ที่มียางพาราเป็นส่วนประกอบที่ NR80% หรือเพิ่มประมาณยางดิบที่ใช้ใน หนึ่งต้นของเสาให้มากขึ้น เพื่อทดลองว่าสามารถออกแบบสูตรยางได้หรือไม่ เพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้ยางพาราให้มากที่สุด ส่วนของงบประมาณปี 2560 ทล.มีการใช้ปริมาณยางพาราข้นทั้งหมด 1,771 ตัน (ปริมาณยางดิบ 3,542 ตัน) คิดเป็นวงเงินทั้งโครงการ 3,253 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด (30 มิถุนายน 2560) ใช้ยางพาราข้นไป 1,328 ตัน มิถุนายน 2560 ใช้ยางพาราไป 1,328 ตัน คิดเป็นวงเงินทั้งโครงการ 2,440 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 75 และคาดการณ์ว่าสามารถใช้ได้ทั้งหมดภายในเดือนกันยายน 2560 และในงบประมาณปี 2561 ทล.จะมีการใช้ปริมาณยางพาราข้นทั้งหมด 4,586 ตัน คิดเป็นวงเงินทั้งโครงการ 3,000 ล้านบาทจำแนกเป็นงานบำรุงรักษา และก่อสร้างทางหลวง จำนวน 1,171 ตันงานอุปกรณ์งานอำนวยความสะดวกงานทางและยางพาราผสมดินซีเมนต์ จำนวน 3,415 ตัน ซึ่งขณะนี้กรมทางหลวงอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบและวิธีการนำยางพาราไปใช้งานทางให้มากขึ้น โดยจะใช้วัสดุยางธรรมชาติมาใช้ในงานทางมากขึ้น เพื่อช่วยการสนับสนุนชาวสวนยางพารา ด้าน นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ในส่วนของ ทช.ได้มีการวิจัย และพัฒนางานทางเพื่อสนับสนุนการใช้ยางพารามาเป็นส่วนผสมในารก่อสร้างหรือซ่อมบำรุงถนน ซึ่งปัจจุบันพบว่าในผิวแบบพาราแอสฟัลต์คอนกรีตใช้ยางพารากับยางแอสฟัลต์ซีเมนต์ ร้อยละ 5 โดยน้ำหนักเป็นอัตราส่วนที่เหมาะสมที่สุด โดยที่ผ่านมา ทช.ได้นำยางพารามาเป็นส่วนผสม ตั้งแต่ปี 2556 จนถึง ปี 2560 โดยคิดเป็นปริมาณน้ำยางดิบ จำนวน 22,659 ตัน หรือน้ำยางข้น 11,330 ตัน คิดเป็นมูลค่ายางพารา 1,132.96 ล้านบาท สำหรับในปี 2560 นี้ ทช.ได้นำยางพารามาใช้ในการก่อสร้างและซ่อมบำรุงถนน จำนวน 557 โครงการ คิดเป็นปริมาณน้ำยางดิบ 7,172 ตัน หรือน้ำยางข้น 5,386 ตัน คิดเป็นมูลค่ายางพารา 358.61 ล้านบาท โดยมีการนำมาใช้ในงานก่อสร้างชั้นผิวทางของ ทช.อยู่ 2 ชนิด คือ ผิวทางพาราสเลอรี่ซีล และผิวทางพาราแอสฟัลต์คอนกรีต ซึ่งการนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างหรือปรับปรุงถนนนั้น ช่วยทำให้ถนนสามารถรับน้ำหนักจราจรได้สูงกว่า มีความต้านทานการเกิดร่องล้อได้ดี มีความต้านทานการแตกร้าวจากความล้าสูง เพิ่มความฝืดเพื่อความขับขี่ที่ปลอดภัย ต้านทานการลื่นไถลได้ดีกว่า โดยรวมแล้วจะทำให้ผิวทางมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่ายางมะตอยธรรมดา ส่งผลให้ค่าบำรุงรักษาในระหว่างอายุการใช้งานลดลง นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง และรักษาเสถียรภาพของราคายางพาราภายในประเทศได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เพื่อสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศให้มีปริมาณมากขึ้น ปัจจุบัน ทช.ได้ทดลองก่อสร้างโดยเพิ่มปริมาณยางพาราผสมกับยางแอสฟัลต์ซีเมนต์ให้มากขึ้นเป็นร้อยละ 8 โดยได้ทดลองก่อสร้างไปแล้ว 8 สายทาง ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมของผิวทาง หากผลการศึกษาทดลองเป็นที่พอใจ ทช.จะปรับปรุงและพัฒนาเป็นมาตรฐานทางเพื่อดำเนินการก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และในปีงบประมาณ 2561 ทช.ยังมีแผนการใช้ยางพาราเป็นน้ำยางดิบ 7,530 ตัน น้ำยางข้น จำนวน 3,765 ตัน มูลค่ายางพารารวม 391.56 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางต่อไป