ไม่ง้อคนกลาง ทางเลือกใหม่สู่ผู้บริโภค อ่าวปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล เป็นแหล่งทำประมงที่มีความอุดมสมบูรณ์ ชาวประมงออกเรือทุกวันเพื่อจับสัตว์น้ำมาเป็นอาหารและจำหน่ายกับแพปลา แต่ผลผลิตที่จำหน่ายเมื่อไปถึงมือผู้ซื้อปลายทางกลับมีราคาสูงกว่าที่จำหน่ายให้แก่พ่อค้าคนกลางเป็นอย่างมาก จากปัญหาผลผลิตโดนกดราคา ทำให้ชาวประมงพื้นบ้าน 3 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านปากบารา บ้านตะโละใส และบ้านท่ามาลัย รวมตัวตั้งร้านจำหน่ายสัตว์น้ำที่จับได้เพื่อตัดพ่อค้าคนกลางออกไป ขณะเดียวกันก็สามารถจำหน่ายผลผลิตให้ผู้บริโภคได้ในราคาที่ยุติธรรม ที่มาของ “ร้านคนจับปลา” จากคำบอกเล่าของ ฮาสานะห์ เกะมาซอ หนึ่งในคณะกรรมการร้านคนจับปลา และเจ้าหน้าที่สมาคมรักษ์ทะเลไทย ระบุว่า กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านได้พูดคุยกันถึงการจัดการผลผลิตของตนเอง ซึ่งหากขายผ่านพ่อค้าคนกลางมักโดนกดราคาอยู่เสมอ แต่ราคาในตลาดที่ขายให้กับผู้บริโภคกลับมีราคาสูงกว่าผู้ผลิตหลายเท่าตัว จึงได้ดำเนิน “โครงการร้านคนจับปลาสตูล” ขึ้น เมื่อปี 2558 ด้วยการสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฮาสานะห์ อธิบายต่อว่า ได้ให้กลุ่มแม่บ้านมาช่วยแปรรูปผลผลิตที่หามาได้ ด้วยเงินลงทุนครั้งแรกเพียง 3,000 บาท เบื้องต้นนำไปซื้อกุ้งจากชาวประมงส่งไปยังเครือข่ายที่มีอยู่ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง และภายใน จ.สตูล นอกจากนี้ยังมีช่องทางจำหน่ายในร้านเลมอนฟาร์ม รวมทั้งการจำหน่ายทางออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ค อีกด้วย “เป้าหมายหลักของร้านคนจับปลาก็เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการผลผลิตของประมงพื้นบ้าน ซึ่งจะต้องทำประมงอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อผู้บริโภค ไม่ใช้เครื่องมือประมงอย่างผิดกฎหมายหรือการทำประมงแบบทำลายล้าง ขณะเดียวกันก็สร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคได้ซื้อสัตว์น้ำที่สด สะอาด ปลอดภัย รู้แหล่งที่มาจากประมงพื้นบ้านโดยตรง ผู้บริโภคก็จะเข้าใจว่าฤดูไหนมีสัตว์น้ำประเภทไหน พร้อมกับการกระตุ้นเตือนจิตสำนึกในการปกป้องแหล่งอาหารทะเลไปด้วย” ฮาสานะห์ กล่าว ผลผลิตของกลุ่มประมงพื้นบ้านมีพวกปลาต่างๆ เช่น ปลาเก๋า ปลากะพง ปลาอินทรีย์ ปลาน้ำดอกไม้ กุ้งแชบ๊วย หมึกหอม หมึกกระดองฯลฯ ซึ่งจะจับได้ตามฤดูกาล จะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าแพปลาร้อยละ 10-20 โดยจะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการจัดการผลผลิตให้ชาวประมง กำไรที่ได้แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรกร้อยละ 50 เป็นต้นทุนหมุนเวียนในร้าน อีกร้อยละ 30 เป็นเงินปันผลของสมาชิกผู้ถือหุ้นปีละหนึ่งครั้ง และอีกร้อยละ 20 นำไปสนับสนุนงานอนุรักษ์ เช่น การสร้างบ้านปลา ธนาคารปู และยังรับซื้อจากสินค้าจากแพปลาในราคาเดียวกันด้วยแต่จะต้องเป็นแพปลาที่เป็นสมาชิกเท่านั้น การเกิดร้านคนจับปลานอกจากจะทำให้ผู้ผลิตขายผลผลิตได้โดยตรงแล้ว ยังเกิดการจ้างงานสร้างรายได้ให้แก่แม่บ้านอย่าง นุซุรา งะสมัน บอกว่า ได้เข้ามาทำงานชำแหละปลาเพื่อส่งให้ผู้บริโภคเมื่อปีก่อน ทำให้มีรายได้ไว้ใช้จ่ายในครอบครัว และได้ร่วมออกร้านตามเทศกาลต่างๆอีกด้วย “ถ้ามีปลาทำพวกเราก็จะมีรายได้ มีอร์เดอร์สั่งซื้อเข้ามาทำให้พวกเรามีรายได้ เอาไปใช้จ่ายในครอบครัว เพราะปกติก็เป็นแม่บ้านไม่มีรายได้จากที่ไหน การได้มาทำงานก็เป็นเรื่องดีเวลามีงานก็ได้ไปออกงานขายของ ได้เปิดหูเปิดตาได้ประสบการณ์” นุซุรา กล่าว การดำเนินงานของร้านคนจับปลาไม่ได้ก้าวเดินโดยลำพัง มีเครือข่ายที่ให้การสนับสนุน เช่น สมาคมชาวประมงสตูล ศูนย์วิจัยประมงชายฝั่งสตูล ช่วยเหลือด้านข้อมูลทางวิชาการ อบต.ปากน้ำ ให้การสนับสนุนโรงเรือน สำนักงานเกษตร อ.ละงู สนับสนุนอุปกรณ์จัดเก็บสัตว์น้ำ โดยทางร้านคนจับปลาอยู่ระหว่างขยายการรับซื้อผลผลิตสัตว์น้ำจากชาวประมงพื้นบ้านที่รู้แหล่งผลิตในพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดด้วย และกำลังอยู่ระหว่างการขอใบรับรองมาตรฐานอาหารทะเลปลอดภัย จากสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น การเกิดขึ้นของร้านคนจับปลาได้สร้างทางเลือกใหม่ที่ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจำหน่ายผลผลิตได้โดยตรงสู่ผู้บริโภคในราคาที่ยุติธรรม ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้กับสมาชิกคนอื่นๆ ในชุมชน นอกจากจะช่วยทำเศรษฐกิจของชุมชนมีความแข็งแกร่งแล้ว ยังก่อให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน จันทนา กูรีกัน /สตูล