เกษตรฯ เตรียมงบ 16,925 ล้านบาทเศษ ขับเคลื่อนใช้ยางในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมให้ กยท.เตรียมจัดทำแผนบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ ช่วงระยะเวลา 5 ปี และ 20 ปี หวังเพิ่มอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ยางพาราในรูปแบบต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อทุกวงการ วันนี้ (26 ก.ค.60) พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย แถลงความก้าวหน้าการส่งเสริมใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีการประกาศนโยบายอย่างชัดเจนในการส่งเสริมการยางพาราไปใช้ในประเทศ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานรัฐบาลทุกกระทรวงได้เดินหน้าเสนอโครงการที่สามารถนำยางพาราไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม สำหรับในระยะเร่งด่วนเพื่อเพิ่มอุปสงค์การใช้ผลิตภัณฑ์ยางพาราในรูปแบบต่างๆ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่างๆ โดยได้ปรับเปลี่ยนงบประมาณเหลือจ่ายมาสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเจ้าภาพหลักจัดการประชุมเร่งติดตามความคืบหน้าการใช้ยางพาราของส่วนราชการ ปี 2560 มีหน่วยงานจากภาครัฐกว่า 35 แห่ง เข้าร่วมประชุม พร้อมได้แจ้งปริมาณความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มเติมและเตรียมแนวทางรองรับการใช้ยางในปี 2561 สำหรับส่วนราชการที่ตั้งงบประมาณไว้แล้วสามารถดำเนินการต่อไปได้ทันที “ในระยะเร่งด่วนซึ่งอยู่ในปีงบประมาณ 2560 มีหน่วยงานภาครัฐที่สามารถดำเนินการใช้ยางพาราภายใต้งบปกติและงบเหลือจ่าย ประมาณ 15,074 ล้านบาทเศษ พร้อมทั้งล่าสุด ครม.มีการอนุมัติงบกลางที่เป็นรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นอีกจำนวน 1,851 ล้านบาทเศษ รวมเป็นงบที่รัฐบาลดำเนินการผลักดันขับเคลื่อนใช้ยางในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ประมาณ 16,925 ล้านบาทเศษ พร้อมให้ กยท.เตรียมจัดทำแผนบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ ช่วงระยะเวลา 5 ปี และ 20 ปี หวังเพิ่มอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ยางพาราในรูปแบบต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อทุกวงการอย่างสูงสุด”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร กล่าว ด้าน ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ราคายางในประเทศขณะนี้ มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้มีการสนับสนุนการนำยางพาราไปใช้ในประเทศทั้งด้านงบประมาณ และการบริหารจัดการนำยางไปใช้ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยปริมาณความต้องการนำยางไปใช้งานในหน่วยงานภาครัฐทั้งน้ำยางข้น ประมาณ 22,000 ตัน และยางแห้ง 3,300 ตัน สามารถดำเนินการใช้ยางพาราภายใต้งบปกติและงบเหลือจ่าย ประจำปี 2560 ตลอดจนงบกลางที่ ครม.ได้อนุมัติวงเงินประมาณ 1,851 ล้านบาทเศษ ผู้ว่าการ กยท. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในระยาวได้มอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทยทำการศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในปีงบประมาณ 2561 ซึ่งจะช่วยผลักดันให้มีการนำยางไปใช้ในปริมาณมากขึ้น ทั้งนี้ สามารถสรุปปริมาณความต้องการใช้ยางของหน่วยงานราชการต่างๆ ปีงบประมาณ 2561 ได้ประมาณต้นเดือนสิงหาคมนี้ พร้อมทั้ง จัดทำแผนบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดไว้