ปัญหาสุขภาพจิต โรคซึมเศร้า ที่ทำให้หลายคนตัดสินใจจบชีวิตด้วยวิธีต่างๆ นานา ดังที่เป็นข่าวอยู่เนืองๆ น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมสุขภาพ ที่เห็นช่องทางการใช้งานสมาร์ทโฟนในเมืองไทยที่พุ่งทะยานในรอบ 5 ปี จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากปี 55-59 จาก 5 ล้านคน เป็น 31.7 ล้านคน และใช้อินเตอร์เน็ตถึงร้อยละ 90.4 ใช้งานสมาร์ทโฟนเกือบวันละ 4 ชม. กรมสุขภาพจิตจึงจัดทำ Mobile Application ในชื่อ “smile hub” ตั้งใจให้เป็นแหล่งรวมสาระความรู้สุขภาพจิต ความสุข รอยยิ้ม กำลังใจ พร้อมให้ข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เหมือนมีหมอสุขภาพจิตอยู่ข้างกาย ในแอพฯจะมีการประเมินสุขภาพจิตของกลุ่มวัยต่างๆ ได้แก่ เด็กแรกเกิด-11ปี วัยรุ่น12-17ปี วัยทำงาน18-60ปี และวัยสูงอายุ 60ปีขึ้นไป วัยเด็กจะมีโปรแกรมเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ซึ่งจะเชื่อมเว็บไซต์สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ สามารถประเมินความฉลาดทางอารมณ์-อีคิว ใน 2 ช่วงอายุ คือ 3-5 ปี,6-11 ปี โดยผู้ปกครองประเมิน วัยรุ่นจะประเมินความฉลาดทางอารมณ์และภาวะซึมเศร้า วัยทำงานจะประเมินความเครียดและภาวะซึมเศร้า ขณะวัยสูงอายุจะประเมินสุขภาพจิต-ภาวะซึมเศร้า ระบบจะประเมินผลให้อัตโนมัติ ใช้เวลาไม่นาน พร้อมรับคำแนะนำภาพรวมและตามผลประเมินที่ได้ ตลอดจนได้รับแนวทางพัฒนาสุขภาพจิตจากผู้เชี่ยวชาญสุขภาพจิตทันที ทั้งยังแชร์ไปยัง Timeline ได้หากต้องการ ทั้งยังมีข่าวสารสุขภาพจิต คำคมอมยิ้ม บทความสุขภาพจิต สื่อสุขภาพจิตต่างๆ ที่น่าสนใจ ที่สำคัญ สามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323ผ่านแอพฯได้ทันที ที่พลาดไม่ได้กับอีกหนึ่งลูกเล่นของแอพฯนี้ คือ เช็คดวงความสุข เพียงเขย่า สมาร์ทโฟน หรือ แท็บเล็ต เพื่อรับคำทำนาย ที่จะมีข้อคิดส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต และแชร์ต่อไปTimeline ได้ สนใจดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น ได้ฟรี ทั้ง ระบบ Android และ iOS