ผู้ว่าศรีสะเกษ สั่งทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม เน้นย้ำนายอำเภอติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด วันที่ 27 ก.ค.60 ที่ห้องประชุม 1 สำนักงานโครงการชลประทานศรีสะเกษ ถนนศรีสะเกษ-กันทรลักษ์ อ.เมืองศรีสะเกษ นายธวัช สุระบาล ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นประธานการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไชปัญหาอุทกภัย โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และนายอำเภอทั้ง 22 อำเภอ เข้าร่วมประชุมพร้อมกับรายงานสถานการณ์การเกิดอุทกภัยในแต่ละพื้นที่และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด นายธวัช สุระบาล ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า น้ำป่าจากเทือกเขาพนมดงรัก ชายแดนไทย-กัมพูชา ไหลลงอ่างเก็บน้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้อ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่งของ จ.ศรีสะเกษ มีปริมาณน้ำเต็มความจุอ่างแล้ว 12 แห่ง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยตาจู อ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ อ่างเก็บน้ำห้วยศาลา อ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กชู และอ่างเก็บน้ำห้วยโอตาลัด ล้นสปิลเวย์ไหลลงไปตามคลองส่งน้ำทะลักเข้าลำห้วยยังไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากนัก เพียงแต่มีน้ำหลากอยู่ในพื้นที่นาของเกษตรกร ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เราพบขณะนี้คือน้ำป่าที่ลงมาจากเทือกเขาพนมดงรักเข้ามาท่วมหมู่บ้านริมเชิงเขาในพื้นที่ ต.รุง และ ต.ละลาย อ.กันทรลักษ์ มีน้ำเซาะถนนเป็นรูกลวง ได้ปิดการจราจรและประสานกับแขวงการทางเข้าดำเนินการซ่อมแซม ส่วนที่น้ำตกห้วยจันทร์ อ.ขุนหาญ ขณะนี้ยังรับปริมาณน้ำได้อีก เพราะลักษณะของน้ำไปไวมาไวไม่ใช่น้ำท่วมขัง ที่ อ.ไพรบึง และ อ.ขุนหาญ จะมีถนนขวางทางน้ำซึ่งตนได้มอบหมายให้แขวงทางหลวงไปสำรวจว่ามีจุดไหนสามารถขยายได้บ้างเพื่อลดผลกระทบกับประชาชนได้มากที่สุด ส่วนพื้นที่ไร่นาที่ได้รับผลกระทบจะเร่งสำรวจความเสียหาย ถ้ามองในภาพรวมขณะนี้ ตั้งแต่มีพายุเซินกาเข้ามา พื้นที่ไร่นาของเกษตรกรเสียหายร่วม 10,000 ไร่ “วันนี้ที่ทราบจากเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ว่า มีเกษตรกรบางส่วนยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน เมื่อประสบภัยก็จะทำให้ไม่ได้รับค่าชดเชย จึงขอฝากแจ้งเตือนเกษตรกรว่า ไปเร่งขึ้นทะเบียน จะทำให้ได้สิทธิ์จ่ายค่าชดเชยตามระเบียบของทางราชการว่าได้ขึ้นทะเบียนไว้หรือไม่ และขอฝากเตือนประชาชนระมัดระวังในเรื่องของการเดินทาง เรื่องไฟฟ้า และประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ต่ำในแต่ละปีที่มีปัญหาน้ำท่วมทุกปี เตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงเพื่อจะได้ลดความเสียหายลงได้ต่อไป”นายธวัช กล่าว