วันนี้ (27 ก.ค.60) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เข้าร่วมพิธีมอบใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แก่ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง ภายในงานมีทั้งสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง โดยชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด คว้าใบอนุญาต มอก.กับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแผ่นยางปูพื้น มอก.2377-2559 และภาคเอกชน 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท เนเชอรัล เลเท็กซ์ แมทเทรส อินดัสตรี (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท ลาเท็กซ์ ซิสเท็มส์ จำกัด ได้รับใบอนุญาตอุตสาหกรรมฟองน้ำลาเท็กซ์สำหรับที่นอน มอก. 2747-2559 และฟองน้ำลาเท็กซ์สำหรับทำหมอน มอก.2741-2559 ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดพิธีมอบใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แก่ผู้ประกอบการ SMEs แปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากสมอ. และกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้มีการส่งเสริมและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลแก้ปัญหาราคายางพาราอย่างยั่งยืน ด้วยการเร่งรัดดำเนินการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพารา ซึ่ง สมอ.มีการประกาศใช้แล้วประมาณ 155 มาตรฐานครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพาราเกือบ 100% และที่สำคัญ ขณะนี้ ยังมีการเดินหน้าผลักดันมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางในระดับต่างประเทศควบคู่ด้วยอีกหลายมาตรฐาน นับว่าเป็นการสร้างความมั่นใจในคุณภาพให้กับผู้บริโภคในการใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพารา และสร้างโอกาสทางธุรกิจในการแข่งขันแก่ผู้ประกอบกิจการยาง ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า ใบอนุญาต มอก.จะเป็นเครื่องหมายการันตีการพัฒนาและส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางก้าวสู่ความสำเร็จอีกระดับหนึ่ง ซึ่งชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด เป็นตัวอย่างของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่มีการพัฒนาและมีความร่วมมือของเกษตรกรชาวสวนยาง และหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจของสถาบันสามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมยางพารา จากนี้ไปจะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานจากเดิมที่ปลูกยางโดยไม่ต้องคำนึงถึงตลาด ณ วันนี้ ต้องมองก่อนว่า มีตลาดอะไรที่รองรับบ้าง ขณะเดียวกันอาจมีการมองถึงโอกาสสร้างคุณภาพมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อเป็นประโยชน์เกษตรกรที่จะเป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงต่อไป ทั้งนี้ ขอชื่นชมในความสำเร็จของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และบริษัทที่สามารถบริหารจัดการกิจการจนผ่านการรับรอง ทาง กยท.พร้อมเป็นพี่เลี้ยงในการสนับสนุนทุกๆ สถาบันเกษตรกรที่พร้อมจะก้าวสู่ภาคอุตสาหกรรมยาง แปรรูปผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขัน เพิ่มรายได้ และสร้างอาชีพให้กับชุมชนและครอบครัวต่อไปอย่างมั่นคง ด้าน นายสุธา อินทร์ยอด รองประธานชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดสตูล จำกัด กล่าวว่า ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดสตูล จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2546 โดยการรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกที่ผลิตยางแผ่นรมควันแล้วนำมาอัดก้อนส่งจำหน่าย ภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนจาก กยท.จนเมื่อปี 2556 ได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูป วงเงิน 5,000 ล้านบาท ของรัฐบาล โดยชุมนุมสหกรณ์ฯ ได้กู้เงินมาประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อนำมาก่อตั้งโรงงานแปรรูปยางจากยางแผ่นรมควันเป็นผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่แปรรูปได้ คือ แผ่นพื้นปูสนามกีฬา ปัจจุบันโรงงานมีกำลังการผลิตสินค้าได้ประมาณ 300 แผ่น/วัน มีเครื่องจักรใหม่ 6 เครื่อง ทั้งนี้ ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว “รู้สึกดีใจมากที่ได้รับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมาย มอก. สำหรับผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา อยากฝากให้เกษตรกรที่เป็นทั้งเกษตรกรผู้กรีดยางและเกษตรกรผู้ผลิต ต่อยอดพัฒนาศักยภาพตนเองให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในอาชีพอีกทางหนึ่งด้วยการรับซื้อผลผลิตยางพาราจากพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง มาเป็นวัตถุดิบแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ใช้ในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งแผ่นพื้นสนามกีฬา ถือเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ยางที่สามารถเพิ่มการใช้ยางในประเทศได้ เนื่องจากแผ่นพื้นสนามกีฬาใช้วัตถุดิบยางพารา 100 % ซึ่งไม่ได้ใช้ยางสังเคราะห์ทดแทน ดังนั้น ถ้าหน่วยงานภาครัฐร่วมสนับสนุนผลิตภัณฑ์แปรรูปยาง เกษตรกรจะสามารถขยายกิจการได้อีกเป็นจำนวนมาก” รองประธานชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดสตูล กล่าว