การเร่งรัดแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกา ตามนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยความพยายามอย่างที่สุดที่จะบุกตลาดเนื้อสุกรในประเทศไทย โดยการสร้างแรงกดดันทางการค้า ต่อสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ที่พยายามให้ไทยเปิดรับทั้งเนื้อสุกรและชิ้นส่วนที่ไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกัน อาทิ หัว ขา และเครื่องใน ด้วยการอ้างเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก ในประเด็นความตกลงว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures-SPS) โดยระบุว่าไทยยังไม่มีผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ถึงผลกระทบด้านลบของการใช้สารเร่งเนื้อแดง ถือเป็นเกมส์การค้าของสหรัฐฯ ที่พยายามบีบไทยให้ยอมรับการใช้สารเร่งเนื้อแดงของประเทศตนเอง โดยอาศัยมติคณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ CAC ที่อนุญาตให้มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง Ractopamine ในการสัตว์เลี้ยงได้ เรื่องนี้เป็นภัยร้ายทั้งต่อผู้บริโภคและเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง ทำความรู้จัก Ractopamine มหันตภัยใกล้ตัว แรคโตพามีน (Ractopamine) เป็นหนึ่งในสารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (Beta-agonists) ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารและเพิ่มปริมาณเนื้อแดง จริงอยู่ที่การใช้สารนี้ส่งผลให้สัตว์มีชั้นไขมันลดลงและเพิ่มปริมาณกล้ามเนื้อ แต่หากได้รับสารในปริมาณมากจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของหลอดลม หลอดเลือด ซึ่งไม่เพียงมีผลต่อตัวสัตว์ ที่จะมีอาการตื่นตกใจง่าย กล้ามเนื้อขาสั่น และยังอาจช็อคถึงตายได้ง่ายๆหากตื่นเต้นมากๆ ที่สำคัญสารเร่งเนื้อแดงที่ตกค้างในเนื้อสัตว์ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยตรง ทำให้กล้ามเนื้อสั่นกระตุก กระตุ้นการเต้นของหัวใจ กระวนกระวาย วิงเวียนและปวดศีรษะ จึงเป็นอันตรายอย่างมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคลมชัก และโรคเบาหวาน ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่269) พ.ศ.2546 กำหนดให้ในการตรวจอาหารทุกชนิดต้องไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์และเกลือของสารกลุ่มนี้ รวมถึงสารในกระบวนการสร้างและสลายของสารดังกล่าว เช่น เนื้อสุกรต้องตรวจไม่พบสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ทุกชนิด ความปลอดภัยผู้บริโภคต้องมาก่อน ความปลอดภัยของผู้บริโภคถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เพราะจากกฎหมายของสหรัฐฯอนุญาตให้ใช้สาร Ractopamine และ Carbadox ในการเลี้ยงได้ นั่นหมายความว่าเนื้อสุกรของสหรัฐฯจะมีสารดังกล่าวปนเปื้อนอยู่อย่างแน่นอน ขณะที่กรมปศุสัตว์ของไทยห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในกลุ่มเบตาอะโกนิสต์ (Beta-agonist) ผสมในอาหารสัตว์ทุกตัว ไม่ว่าจะเป็น ซัลบูทามอล เคลนบูเทอรอล และแรคโตพามีน ตามพรบ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 เนื่องจากหากใช้เกินขนาดจะทำให้สัตว์อยู่ในสภาพถูกทรมานและส่งผลร้ายต่อผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการปราบปรามการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดง และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากอนุญาตให้เนื้อสุกรจากสหรัฐฯ มาขายปะปนกับเนื้อสุกรของไทยที่ปราศจากสารเร่งเนื้อแดง ก็จะทำให้ผู้บริโภคชาวไทยตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูง และอาจเป็นไปได้ว่าจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นตระหนกนำไปสู่การลดหรืองดบริโภคเนื้อสุกร เท่ากับเป็นการปิดประตูอุตสาหกรรมนี้ของไทยในทันที ที่ผ่านมาสหรัฐฯได้อ้างกฎกติกาขององค์กรการค้าโลกมาตลอด และตอบโต้ว่ากฎหมายของไทยกีดกัน ซึ่งเป็นการไม่ให้ความเคารพต่อกฎหมายภายในของไทย วันนี้ต้องชื่นชมรัสเซียที่กล้าปฏิเสธการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ ทั้งๆที่ประเทศเขามีอัตราการบริโภคเนื้อสุกรสูงมาก โดยให้เหตุผลว่าขาดสุขอนามัยที่ดีและมีปริมาณสารตกค้าง เกินกว่าค่าสูงสุดที่ยอมรับได้ (Maximum Residue Limit : MRL) นั่นเพราะรัสเซียตระหนักถึงความปลอดภัยของประชาชนในประเทศ รวมถึงต้องการปกป้องเกษตรกรของตนเอง นอกจากนี้ ทั้งสหภาพยุโรป(อียู) จีน รวมถึงไทย ก็ยังคงไม่เห็นด้วยและปฏิเสธการใช้ และยืนยันที่จะห้ามใช้สารในกลุ่มเบตาอะโกนิสต์อย่างเด็ดขาด เพื่อปกป้องความปลอดภัยด้านอาหารแก่ประชากรของประเทศอย่างถึงที่สุด เนื้อสุกรสหรัฐฯ ภัยร้ายภาคปศุสัตว์ไทย การที่สหรัฐฯเร่งกดดันไทยเพื่อส่งชิ้นส่วนหมูเข้ามาตีตลาดบ้านเราให้ได้ นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่ออาชีพการเลี้ยงสุกรที่อยู่คู่กับเกษตรกรไทย ที่ช่วยสร้างความมั่นคงและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรชาวไทยทั่วประเทศมาช้านาน และต้องไม่ลืมว่าภาคผู้ผลิตสุกรไทยมีการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบันเกษตรกรไทยสามารถผลิตเนื้อสุกรที่มีคุณภาพได้อย่างเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และเกิดภาวะล้นตลาดในบางครั้ง ซึ่งเป็นไปตามอุปสงค์อุปทาน หากรัฐบาลยินยอมให้มีการนำเข้าเนื้อสุกรที่มีการผลิตที่ขัดต่อกฎหมายด้านสุขอนามัยของไทย โดยไม่มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับข้อบัญญัติ ย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและครอบครัว นอกจากนี้ ชิ้นส่วนเครื่องในของสุกรยังเป็นพาหะนำโรคในสุกรที่สำคัญหลายโรค อาทิเช่น โรค PRRS (Porcine reproductive and respiratory syndrome) ที่เป็นกลุ่มอาการของโรคในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร และโรค Seneca Valley Virus ที่มีอาการคล้าย FMD โรคท้องเสีย ที่เกิดจากเชื้อ Delta corona virus ที่มีอาการคล้าย PED เข้ามายังประเทศไทย กลายเป็นความเสี่ยงด้านโรคระบาดที่จะส่งผลอย่างมากต่ออุตสาหกรรมสุกรไทย ระวังซ้ำรอยเวียดนาม ปัจจุบันสหรัฐฯ ได้เปรียบคู่แข่งในทุกๆประเทศ จากนโยบายการอุดหนุนเงินสมทบ (Subsidy) ผู้เลี้ยงหมูของสหรัฐฯ ทำให้มีต้นทุนการผลิตต่ำ จึงสามารถส่งเนื้อหมูและชิ้นส่วนไปตีตลาดได้แทบทุกประเทศ นี่จึงถือเป็นอาวุธทางการค้าที่สามารถทำลายเกษตรกรทั้งรายย่อย รายกลาง ในประเทศผู้นำเข้าจากสหรัฐฯได้อย่างราบคาบ ดังเช่นที่ปัจจุบันได้เกิดขึ้นกับเวียดนาม ที่ผู้เลี้ยงสุกรกำลังเผชิญกับภาวะสุกรนำเข้าจากสหรัฐฯ ที่มีราคาต่ำกว่าเนื้อสุกรภายในประเทศอย่างมาก จึงไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ผลที่ตามมาคือเกษตรจำเป็นต้องเลิกกิจการไปในที่สุด เพราะไม่สามารถแบกรับภาระขาดทุนจากราคาขายที่ต่ำกว่าต้นทุนได้อีกต่อไป เชื่อว่าชาวไทยคงไม่ต้องการให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับประเทศเราเป็นแน่ วันนี้้คงต้องฝากให้รัฐบาล ยืนยันในการห้ามนำเข้าหมูจากสหรัฐฯอย่างเด็ดขาด เพื่อปกป้องความปลอดภัยในอาหารให้กับชาวไทย ช่วยรักษาอาชีพคนเลี้ยงหมูที่เป็นห่วงโซ่ที่สำคัญกับภาคเกษตรพืชไร่ที่เป็นพืชอาหารสัตว์ ทั้งข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง และมันสำปะหลัง ซึ่งมีประชากรไทยที่เกี่ยวข้องในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมตลอดห่วงโซ่มากกว่า 10 ล้านคน และช่วยประคองเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและทางการเกษตรเอาไว้ อย่าให้หมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงของสหรัฐฯ มาเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมให้สินค้าอาหารไทยเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานความปลอดภัยและกีดขวางหนทางสู่การเป็นครัวโลกเลย โดยนายสัตวแพทย์ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย