ผู้ออกแบบจัดสร้างเทพชุมนุมฐานไพทีพระเมรุมาศเผยเพิ่มองค์เทพรวม 132 องค์ 24 แบบ ถือเป็นการรวบรวมเหล่าทวยเทพหลากหลายที่สุด ความคืบหน้าจัดสร้างประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นายสุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและควบคุมการจัดสร้างเทพชุมนุมฐานไพทีนั่งราบประดับพระเมรุมาศ ดำเนินการโดยศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา และสีบัวทอง จ.อ่างทอง กล่าวว่า จากการทดลองนำเทพชุมนุมฐานไพทีนั่งราบไปติดตั้งรอบพระเมรุมาศประธาน จึงเห็นช่องว่างของการประดับ ดังนั้นกรมศิลปากรจึงให้เพิ่มเทพชุมนุมจากเดิมที่กำหนดไว้ 108 องค์ เป็น 132 องค์ เพื่อความสง่างาม โดยการปั้นเทพชุมนุม ครั้งนี้มี 24 แบบ แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.ครุฑพนมนั่งราบยอดน้ำเต้า 16 องค์ 2.เทวดาพนมนั่งราบ 32 องค์ ประกอบด้วย พระประโคนธรรพตาพระพุทธรูปยอดลำโพงห่มหนังเสือ พระปัญจสิงขรยอดน้ำเต้าห้ายอดหน้ามนุษย์ ธตรฐยอดบัด(เดินหน) วิรูปักษ์ยอดนาค วิรุฬหกหน้ามนุษย์ ยอดหางไก่ และเทวดายอดชัย 3. พานรพนมนั่งราบ 20 องค์ ประกอบด้วย หนุมานทรงเครื่องอินทรชิต พาลีไม่ใส่เสื้อ ชมพูวราชยอดชัย องคตยอดสามกลีบ สุครีพยอดบัด 4.ยักษ์พนมนั่งราบ จำนวน 64 องค์ ประกอบด้วย สวัสดีมาร ทศกัณฑ์ จักรวรรดิ สวมมงกุฎหางไก่ เวสสุวรรณ สามมงกุฎยอดน้ำเต้าเหลี่ยม มังกรกัณฐ์ สวมมงกุฎยอดนาค อินทราชิต สวมชฎากาบไผ่เดินหน ทศคิรีวันหน้าแบบอินทรชิต ใส่งวงช้างยอดเดินหน ทศคิรีธรหน้าแบบอินทรชิตยอดช้างตาจระเข้ สัทธาสูร ยอดจีบ และทัพนาสูรยอดสามกลีบ รูปแบบของการปั้นส่วนใหญ่ศึกษาจากงานประติมากรรมประดับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) และพระมณฑปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ที่มียักษ์ประดับบริเวณบันได “ส่วนบรรดาหัวโขนนั้นจะเป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ ส่วนเครื่องทรงต่างๆ จะออกแบบเป็นศิลปะต่างๆ เช่น ศิลปะอยุธยา โดยเลือกเครื่องยอดที่เป็นทรงสูง มีเครื่องยอดสง่างาม ถือเป็นการรวบรวมเหล่าทวยเทพที่มีความหลากหลายที่สุดที่เคยมีมา ซึ่งการจัดสร้างดังกล่าวเสมือนกับเหล่าองค์เทพต่างๆ ได้มารอเข้ามาเฝ้ารอรับเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ยังเขาบริภัณฑ์” นายสุดสาคร กล่าว