ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น ภาพ / สิริภูมิ ชูวงศ์ตระกูล "ผ่านพู่กันด้วยใจภักดิ์ จิตรกรรมฉากบังเพลิง บันทึกในพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9" เหลือเวลาสองเดือนเศษ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) จะมาถึง ในด้านการจัดสร้างพระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างอาคารประกอบ ตลอดจนงานบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน งานศิลปกรรม งานประณีตศิลป์ งานจิตรกรรม ดำเนินการรุดหน้าไปตามลำดับ ที่เหล่าช่างศิลปะในแต่ละสาขา ทั้งในส่วนสำนักสถาปัตยกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ต่างปฏิบัติงานกันอย่างเต็มที่ อีกทั้งจิตอาสาเชิงช่างในแต่ละกลุ่มงานช่วยกันสุดฝีมือ เพื่อให้งานสร้างสรรค์ออกมาดีและสมพระเกียรติที่สุด อย่างงานเขียนภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิงเป็นอีกหนึ่ง กลุ่มจิตรกรรม จิตอาสาหลายสถาบันการศึกษาศิลปะ ศิลปินอิสระ ต่างจรดพู่กันตัดเส้นสีภาพเขียนของแต่ละฉาก ทั้งในส่วนที่แสดงเรื่องราวพระนารายณ์อวตารปางต่างๆ 8 ปาง ด้านหน้าของฉาก กับภาพเขียนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมวด ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่อยู่ด้านล่างของฉาก ส่วนด้านหลังของฉาก แสดงภาพเขียนดอกไม้มณฑาทิพย์ บัวสวรรค์ และอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. บางฉากได้ดำเนินการเสร็จแล้ว และหลายฉากใกล้แล้วเสร็จ เกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ จิตรกรชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่ กล่าวภาพรวมจิตรกรรมฉากบังเพลิงว่า คืบหน้า 80 เปอร์เซ็นต์ อย่างภาพเขียนฉากด้านทิศตะวันตก ด้านหน้าแสดงเรื่องราวพระนารายณ์ปางกฤษณาวตาร ทรงอวตารเป็นพระกฤษณะ และปางกัลกยาวตาร ทรงอวตารเป็นมนุษย์ขี่ม้าขาว พร้อมกับภาพล่างแสดงเรื่องราวโครงการพระราชดำริหมวดลม เสร็จสมบูรณ์แล้ว เหลือเพียงขั้นตอนประกอบเข้ากับฉากจริง ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจิมกระบังหน้าพระนารายณ์อวตารปางที่ 8 เป็นสีแห่งมณีนพเก้า สีแห่งมงคล 9 ชนิด ประกอบด้วยเพชร 1 ชนิด และอัญมณี 8 ชนิด คือ ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิลกาฬ มุกดาหาร เพทาย และไพฑูรย์ ถือเป็นการปิดงานจิตรกรรมฉากบังเพลิงด้านทิศตะวันตก เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่งานช่างสำนักช่างสิบหมู่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปกรรมและประณีตศิลป์ประกอบพระเมรุมาศ ‘เกียรติศักดิ์’ กล่าวภาพเขียนพระนารายณ์อวตารปางต่างๆ อีก 6 ปาง ด้านทิศเหนือ ปางมัสยาอวตาร ทรงอวตารเป็นปลากรายทอง และปางกูรมาวตาร ทรงอวตารเป็นเต่า ด้านทิศใต้ ปางปรศุรามาวตาร ทรงอวตารเป็นพราหมณ์ปรศุราม ผู้ใช้ขวานเป็นอาวุธ และปางรามาวตาร ทรงอวตารเป็นพระรามในรามเกียรติ์ ด้านทิศตะวันออก วราหาวตาร ทรงอวตารเป็นหมูป่า ปางนรสิงหาวตาร ทรงอวตารเป็นนรสิงห์ ภาพรวมเหลือเพียงตัดเส้นเครื่องประดับ และภาพเขียนเทวดานางฟ้าเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มภาพจิตรกรรมประดับทางขึ้นบันไดชั้นเดียวกับที่ติดตั้งฉากบังเพลิงทั้งสี่ทิศ ด้านหน้าเป็นภาพเทพยดา ด้านหลังเป็นภาพโครงการพระราชดำริ เพื่อล้อตามภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิง ส่วนภาพเขียนด้านหลังของฉากบังเพลิง จิตรกรกำลังลงสีลวดลายดอกบัวสวรรค์ที่อยู่ด้านล่างของฉาก โดยบัวสวรรค์นี้ได้แรงบันดาลจากศาสตร์พระราชา และพืชพรรณมงคล เพื่อเทิดพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 9 ออกแบบดอกบัวผูกลวดลายขึ้นมาจากน้ำ มีภาพพันธุ์ข้าวพระราชทานจากแปลงนาทดลองสวนจิตรลดา เสริมภาพหญ้าแฝกลงสีบางๆ ในน้ำมีปลานิลขนาดเล็กและใหญ่ให้ดูเป็นธรรมชาติ และวาดภาพนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เพื่อให้ภาพบัวสวรรค์มีชีวิตชีวา เหนือจากภาพเขียนบัวสวรรค์มีหยดน้ำสื่อฝนหลวง เสมือนเติมเต็มความอุดมสมบูรณ์พืชพรรณ เทคนิคการเขียนผสมผสานจิตรกรรมเสมือนจริงกับจิตรกรรมไทยประเพณี เป็นภาพที่มีระยะใกล้ไกล ตัดเส้นแบบประเพณี เข้ากับจิตรกรรมนารายณ์อวตารด้านหน้า เป็นจิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 9 โดยจิตรกรจะลงสีบัวสวรรค์ให้ครบทั้งสี่ทิศอย่างมีเอกภาพ ภาพบัวสวรรค์ยังตัดเส้นลายเฟื่อง และรายละเอียดดอกไม้สีเหลืองตรงกลางที่ประดับอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานแนวทางศึกษาเพิ่มเติมในส่วนของภาพตรงกลางประดับอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. เพิ่มเติมรัศมีโดยรอบพระมหาพิชัยมงกุฎ ‘เกียรติศักดิ์’ จิตรกรชำนาญการพิเศษ ได้เสริมภาพการทำงานของเหล่าจิตรกรช่างสิบหมู่ และจิตรกรอาสาด้วยว่า “พวกเรากว่า 30 ชีวิต หมุนเวียนปฏิบัติงานกันทุกวัน ไม่มีวันหยุด ทุ่มเทรวบรวมแรงใจเพื่อที่ให้งานเขียนภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิงทั้งหมดแล้วเสร็จต้นเดือนกันยายน” (พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง 24 ก.ค. 60) ที่สำนักช่างสิบหมู่ จ.นครปฐม เมื่อเปิดประตูเข้าไปในโรงเขียนภาพ พบเหล่าจิตรกรกำลังเขียนภาพฉากบังเพลิงของแต่ละมุม บรรจงพู่กันแต่งแต้มตัดเส้นสีองค์ประกอบภาพ ชีพ ดิสโร หรืออาจารย์ ‘ชีพ’ นายช่างศิลปกรรม อาวุโส จิตรกรอาวุโสกำลังใช้พู่กันตัดเส้นสีภาพต้นมณฑาทิพย์ด้านหลังของฉากบังเพลิง กล่าวว่า “ส่วนตัวแล้วมีความถนัดงานเขียนจิตรกรรมไทยประเพณี กึ่งอุดมคติ กึ่งเหมือนจริง อย่างภาพที่เขียนลงสีต้นไม้มณฑาทิพย์” และเสริมภาพการแบ่งงานตามความถนัดของจิตรกรแต่ละคน “น้องคนไหนที่ถนัดทางด้านใดให้เขาทำงานทางด้านนั้น บางคนถนัดลงสีพื้น บางคนถนัดลงสีบัว คนไหนถนัดลงลวดลายและตัดเส้นก็ให้เขาทำตามความถนัด แต่ภาพรวมแล้วต้องเป็นเอกภาพตามที่ผู้ออกแบบกำหนดไว้” ด้วยประสบการณ์งานประณีตศิลป์ ลายผ้าและสี มาแต่ครั้งงานพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ต่อด้วยพระเมรุมาศสองครั้งที่ผ่านมา งานศิลปกรรม ลงสีเทวดา สัตว์หิมพานต์ กระทั่งมาพระเมรุมาศ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” งานเขียนภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิง ‘อ.ชีพ’ กล่าวความรู้สึกครั้งนี้ “หลายคนถามผมว่าภูมิใจไหม ในความคิดของผมแล้ว ถ้าพระองค์ท่านยังอยู่ เราน่าจะภูมิใจมากกว่า แต่ในเมื่องพระองค์จากพวกเราไปแล้ว เราก็พยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อพระองค์” ด้านมุมจิตรกรอาสา สุรัชต์ สดแสงสุก ศิลปินอิสระ เขียนภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่องล่างของฉากบังเพลิง อาทิ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า ดิน ป่าพรุ ประตูระบายน้ำปากพนัง ‘สุรัชต์’ กล่าวว่า ภาพแรกที่เขียน ค่อนข้างใช้เวลานานพอสมควร เพราะว่าจะใช้สีของตนเองที่วาดอยู่ประจำมาใช้กับงานนี้ไม่ได้ เนื่องจากได้มีการกำหนดสีที่จะใช้อยู่แล้วเป็นสีของพระนารายณ์โทนสีม่วง และสีเหลือง สีวันพระราชสมภพที่กำหนดอยู่ ดังนั้นช่วงแรกจะยากมาก ต้องมีการปรับแก้สีที่เคยวาดอยู่เพื่อให้เข้ากับภาพเขียนโครงการพระราชดำริ รูปแรกจึงใช้เวลากว่า 1 เดือน ส่วนภาพเขียนดินจะเร็วขึ้น ภาพเขียนป่าพรุ ดูเหมือนยากแต่กับใช้เวลาเขียนลงสีไม่ถึงสัปดาห์ “ส่วนภาพเขียนประตูระบายน้ำปากพนัง ค่อนข้างเป็นเรื่องใกล้ชิด ปี 2539 เคยไปร่วมงานกับอาจารย์ปรีชา เถาทอง เขียนภาพผนังภายในอาคารทรงงาน แล้วไม่คิดว่าในชีวิตที่ผ่านมาจะกลับมาเขียนภาพที่นี่ เป็นเหมือนรื่องราวที่ผูกโยง โดยที่ผมเองไม่ได้คาดคิดมาก่อนจะต้องมาเขียนภาพประตูระบายน้ำนี้ในฉากบังเพลิง และถ้าพูดจากใจจริงแล้ว ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นในวันที่จะต้องมาถวายงานในเหตุการณ์แบบนี้ วันที่พระองค์ท่านเสด็จสวรรคตทั้งจิตรกรช่างสิบหมู่ จิตรกรอาสาผ่านพู่กันด้วยใจภักดิ์ จิตรกรรมฉากบังเพลิง บันทึกในพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9