อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ จัดงานวัน "ภาษาไทยวลัยลักษณ์ สนองพระราชปณิธานในหลวง รัชกาลที่ 9" ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม ภาษาไทย พร้อมเชิญศิลปินแห่งชาติร่วมเวทีเสวนา และมอบโล่เชิดชูเกียรติผู้ใช้ภาษาไทยภาคใต้ดีเด่น จำนวน 4 คน ที่หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี เม่ื่อวันที่ 26 ก.ค.60 ที่ผ่านมา รศ.ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ ผอ.อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) กล่าวว่า อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ จัดงานวันภาษาไทยวลัยลักษณ์ ภายใต้หัวข้อ "พระอัจฉริยภาพด้านภาษาไทยของในหลวง รัชกาลที่ 9" เพื่อน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านภาษาและวรรณกรรม ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สนองพระราชปณิธานในการอนุรักษ์ ส่งเสริม ภาษาไทย โดยมี คุณศักดิ์สิริ มีสมสืบ (กิตติศักดิ์ มีสมสืบ) กวีซีไรต์ ปี 2535 และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2559 และคุณไพฑูรย์ ธัญญา (ธัญญา สังขพันธานนท์) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2559 ร่วมเวทีเสวนา รศ.ดร.สืบพงศ์ กล่าวต่อว่า วันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 29 ก.ค.60 ของทุกปี สืบเนื่องจากเมื่อปี 2505 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ เป็นประธานการประชุมทางวิชาการชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ พระองค์ทรงให้ข้อคิดเห็นหลายอย่างในเรื่องการเขียน การอ่าน การพูดภาษาไทย ที่ถูกต้อง ทรงแสดงทรรศนะเกี่ยวกับปัญหาการใช้ภาษาไทยไว้หลายประการ ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องรักษาไว้อย่างดี และในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่การสื่อสารแบบมัลติมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ภาษาของเยาวชน จึงจำเป็นต้องกระตุ้นให้เยาวชนหันมาใช้ภาษาไทยกันอย่างถูกต้อง สร้างสรรค์ เพื่ออนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ต่อไป "ภาษาไทยเป็นวัฒนธรรมของชาติ ที่ใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารสร้างความเข้าใจ สร้างสรรค์วรรณศิลป์และศิลปะที่เกี่ยวข้องในรูปแบบต่างๆ มาเป็นเวลานาน ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญด้านภาษาไทย อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ จึงดงานวันภาษาไทยวลัยลักษณ์’60 ขึ้นเพื่อสนองพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม ภาษาไทย และเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ใช้ภาษาไทยพื้นบ้านดีเด่นเป็นแบบอย่าง รวมถึงเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรสำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ก่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในภาษาไทยดียิ่งขึ้นด้วย" รศ.ดร.สืบพงศ์ กล่าว ในโอกาสนี้ อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ ได้มอบโล่เชิดชูเกียรติแก่ผู้ใช้ภาษาไทยพื้นบ้านภาคใต้ดีเด่น ประจำปี 2560เพื่อส่งเสริมและยกย่องบุคคลผู้ใช้ภาษาไทยพื้นบ้านได้ดี เป็นแบบอย่างในทางสร้างสรรค์ ซึ่งมีผู้ได้รับโล่ดังกล่าว จำนวน 4 คน ได้แก่ นายวิเชียร เกื้อมา นายวิโรจน์ อินทศิลา นายนิตย์ พงศ์พฤกษ์ และนายสุเชาว์ พงศานนท์ พร้อมกันนี้ ผู้ชนะเลิศการแข่งขันร้อยกรองและเพลงบอกเยาวชน เข้ารับโล่พระราชทานหน้าพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี โดยมี รักษาการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา เป็นประธานมอบโล่ เกียรติบัตร และเงินรางวัล แก่รองชนะเลิศอันดับ 1-2 และรางวัลชมเชย ท่ามกลางคณะครู นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน ------------------