ม.วลัยลักษณ์ จับมือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่หน่วยประสานงาน ม.วลัยลักษณ์ กรุงเทพฯ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ ลงลงนามความร่วมมือกับ นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในการสนับสนุนการจัดตั้งและการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ (Center of Excellence in Health System and Medical Research) มุ่งตอบสนองการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ พัฒนาโจทย์วิจัยเชื่อมต่อจากระดับพื้นที่สู่ระดับประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายจากความรู้ในงานวิจัยควบคู่กับการพัฒนานักวิจัยหน้าใหม่ โดยมีอาจารย์ ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ และ พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้จัดการสำนักจัดการงานวิจัยและประสานโครงการ ร่วมเป็นพยานในพิธีลงนาม ศ.ดร.สมบัติ กล่าวว่า ม.วลัยลักษณ์ มีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมการวิจัยในรูปแบบของการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายนักวิชาการ ผ่านการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ หน่วยวิจัยและกลุ่มวิจัยต่างๆ โดยปัจจุบัน ม.วลัยลักษณ์ มีศูนย์วิจัยความเป็นเลิศจำนวน 10 ศูนย์ หน่วยวิจัยจำนวน 9 หน่วย และกลุ่มวิจัยอีกจำนวน 5 กลุ่มวิจัย โดยทางด้านการวิจัยด้านสุขภาพ มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ (CE-HSMR) ขึ้น เพื่อเชื่อมโยงงานวิชาการ นวัตกรรมสร้างสรรค์ในสถาบันอุดมศึกษากับการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ มุ่งเน้นการนำความรู้จากงานวิจัยไปประยุกต์ใช้จริง และสามารถตอบสนองต่อความต้องการ ตลอดจนมุ่งเน้นทำวิจัยในลักษณะการสะสมและต่อยอดองค์ความรู้ที่ทันต่อสถานการณ์ เพื่อตอบโจทย์และแก้ปัญหาด้านสุขภาพและการแพทย์ของประเทศ ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้มีกรอบระยะเวลา 3 ปี โดยความร่วมมือดังกล่าวนอกจากจะเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรของทั้งสองสถาบัน ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัย การบริหารจัดการงานวิจัย และด้านอื่นๆ อีกด้วย
"มหาวิทยาลัยยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินของ CE-HSMR อย่างเต็มที่ ทั้งการสนับสนุนเชิงนโยบาย บุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ การบริหารจัดการ และงบประมาณ เพื่อให้ศูนย์สามารถสร้างงานวิจัย สร้างเครือข่ายนักวิจัยที่มีศักยภาพสูง นำไปสู่องค์ความรู้เพื่อจัดการเชิงระบบ หรือต้นแบบการพัฒนาระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ"
ด้าน นพ.พีรพล กล่าวเสริมว่า สถาบันการศึกษาตามภูมิภาคต่างๆ นับเป็นศูนย์กลางและแหล่งทรัพยากรที่มีทั้งองค์ความรู้และบุคลากรที่มีความสามารถจำนวนมาก โดยเฉพาะด้านการวิจัยในสาขาต่างๆ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีนโยบายสนับสนุนงานด้านการวิจัยที่ชัดเจน สอดคล้องกับนโยบายของ สวรส. และยังเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาระบบวิจัยของประเทศอีกด้วย ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงนับเป็นความร่วมมือที่มีแนวโน้มของความสำเร็จค่อนข้างสูง โดย สวรส. ได้มีแผนดำเนินงานในการร่วมสนับสนุนศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยสุขภาพและการแพทย์ทั้งในเรื่องงบประมาณ สนับสนุนด้านการพัฒนาศักยภาพ การบริหารจัดการงานวิจัย การพัฒนาระบบวิจัย และการสร้างเครือข่ายวิจัยที่สามารถเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งเป้าให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบในเชิงสุขภาพและระบบสุขภาพของประชาชน -----------------