องคมนตรี ติดตามโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ฯ เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำ เมื่อเร็วๆนี้ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี พร้อมคณะ ติดตามการดำเนินงานของโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และเขื่อนพระราม 6 ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยสถานการณ์น้ำในช่วงมรสุมซึ่งได้เกิดอุกทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ติดตามการดำเนินงานของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริที่สำคัญๆ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อเตรียมความพร้อมกับสถานการณ์อุทกภัยที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยทรงมีพระราชปณิธานที่จะทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศที่ได้สร้างประโยชน์สุขกับราษฎรให้บังเกิดความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องต่อไป โอกาสนี้ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี และคณะ ได้เดินทางไปยังโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ฯพร้อมกับรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสถานการณ์น้ำในขณะนี้ จากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยมบ้านเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2532 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการเขื่อนกักเก็บน้ำ สรุปความว่า “โครงการเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสักเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สมควรจะพิจารณาดำเนินการก่อสร้างโดยด่วน เพราะนอกจากจะเป็นโครงการที่ได้รับประโยชน์ต่อพื้นที่เพาะปลูกของลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างอย่างกว้างขวางแล้วยังสามารถช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและน้ำเน่าเสียให้กับกรุงเทพมหานครได้อีกส่วนหนึ่งด้วย” ต่อมาเมื่อวันที่4 ธันวาคม 2536 ได้พระราชทานพระราชดำรัส ความว่า “...โครงการที่คิดจะทำนี้บอกได้ ไม่กล้าพูดมาหลายปีแล้วเพราะเดี๋ยวจะมีการคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญจากผู้ที่ต่อต้านการทำโครงการ แต่โครงการนี้เป็นโครงการที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย แต่ถ้าดำเนินการไปเดี๋ยวนี้อีก 5-6 ปี ข้างหน้าเราก็สบาย...” จากนั้น เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2537 จึงได้มีการก่อสร้างโครงการเขื่อนป่าสักฯขึ้น เป็นเขื่อนดินขนาดความจุ 960 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2542 และได้รับพระราชทานนามเขื่อนแห่งนี้ว่า "เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์" หมายถึง เขื่อนแม่น้ำป่าสักที่เก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2542 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2543 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชมการดำเนินงานของโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ฯ ปัจจุบันโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ฯ สามารถบรรเทาอุทกภัยให้กับพื้นที่จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรในเขตจังหวัดลพบุรี และสระบุรี จำนวน 159,500 ไร่ รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำเสริมให้แก่พื้นที่ชลประทานเดิมในทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างประมาณ 2,015,800 ไร่ น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการอุตสาหกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังช่วยฟื้นฟู และรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมถึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่มีพันธุ์ปลากว่า 130 ชนิดพันธุ์ จากเดิม 80 ชนิดพันธุ์ เพิ่มขึ้นอีก 52 ชนิดพันธุ์ ทำให้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ฯเป็นแหล่งประมงที่สำคัญแห่งใหม่ของประเทศเกิดอาชีพประมงสร้างราย ได้ให้แก่ราษฎรเป็นอย่างมาก และนอกจากนี้ยังพบว่าราษฎรส่วนใหญ่หันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมมากขึ้นมีรายได้สูงถึงปีละ 22,039 บาท ​ จากนั้นคณะฯ ได้เดินทางไปยังเขื่อนพระราม 6 ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธา เขื่อนพระราม 6 เป็นเขื่อนทดน้ำแห่งแรกในประเทศไทย เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ก่อสร้างเสร็จทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สร้างขึ้นเพื่อปิดกั้นแม่น้ำป่าสักที่คุ้งยางนม ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตัวเขื่อนมีช่องระบายน้ำ ทำด้วยบานเหล็ก 6 ช่อง กว้างช่องละ 12.50 เมตร มีประตูระบายพระนารายณ์เพื่อระบายน้ำแม่น้ำป่าสักที่ทดไว้เข้าสู่คลองระพีพัฒน์ ซึ่งเป็นคลองส่งน้ำสายใหญ่ เขื่อนพระราม 6 มีปริมาณน้ำที่ไหลมารวมกันจาก 3 แหล่ง ประกอบด้วย ช่วงฤดูฝนปริมาณน้ำที่ไหลหลากลงแม่น้ำเจ้าพระยา จากแม่น้ำป่าสักที่ระบายออกกจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ฯลงมา และปริมาณน้ำ Side Flow ที่ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสักช่วงตั้งแต่ท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ฯจนถึงเขื่อนพระราม 6 (ระยะทาง 95 กิโลเมตร) ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่ไม่สามารถควบคุมได้ สำหรับการบริหารจัดการน้ำบริเวณหน้าเขื่อนโดยมีอาคารควบคุมปริมาณน้ำเหนือที่ไหลหลากลงมาในแม่น้ำป่าสัก คือ รับน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์ ในอัตราไม่เกิน 210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากนั้น ระบายน้ำออกทางคลองระพีพัฒน์แยกใต้ในอัตราไม่เกิน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคลองระพีพัฒน์แยกตกในอัตราไม่เกิน 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่อำเภอหนองแค เพื่อระบายน้ำลงสู่ระบบระบายตอนล่างและทะเล โดยไม่ให้เกิดความเสียหายกับพื้นที่ชลประทานเพื่อลดยอดน้ำหลากที่ไหลผ่านเขื่อนพระราม 6 ให้น้อยที่สุด ปริมาณน้ำที่เหลือจะระบายผ่านเขื่อนพระราม 6 ซึ่งจะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าวัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในอัตราไม่เกิน 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ในเขตเทศบาลตำบลท่าเรือปัจจุบันเขื่อนพระราม 6 ได้ทำหน้าที่มาถึง 93 ปี สามารถช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครจากช่วงน้ำไหลหลาก สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสระบุรี จนถึงทุ่งรังสิต จังหวัดปทุมธานี รวม 680,000 ไร่ ตลอดจนเพื่อการอุปโภค บริโภค อุตสาหกรรม รวมถึงผลักดันน้ำเค็มรักษาระบบนิเวศด้านท้ายน้ำอีกด้วย กองประชาสัมพันธ์สำนักงาน กปร.