นายอุ่นเรือน เกิดสุข ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ด้านเกษตรผสมผสาน ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อดินบนเนื้อที่ 10 ไร่ ถูกเติมเต็มด้วยกิจกรรมการเกษตรต่างๆ ผสมผสานกัน โดยยึดหลักความสอดคล้องที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และสภาพภูมิสังคมของท้องถิ่น ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า สู่ประโยชน์สูงสุด จึงเกิด “หลายหลากเรื่องราวในพื้นที่ ถ่ายทอดผ่านกิจกรรมการเกษตร ที่หลากหลาย” ผลผลิตจากกิจกรรมที่ดำเนินการ เกิดเป็นแหล่งอาหารให้กับครอบครัวได้รับประทานตลอดปี และสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง เติมเต็มซึ่งกันและกันสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้ครอบครัวได้เป็นอย่างดี นี่คือเรื่องราวของอุ่นเรือน เกิดสุข เกษตรกรวัย 57 ปี หนึ่งในบุคคลผู้ซึ่งน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาเป็นแนวทางในการพัฒนาอาชีพ และสิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การได้น้อมนำหลักการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาเป็นเสมือนแสงเทียนส่องนำทางชีวิตให้กับครอบครัว จนประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้ “สี่มือสองแรง เปลี่ยนแปลงไร่เมี่ยง เป็นเกษตรพอเพียง ตามปรัชญาของพ่อ” นี่คือแนวคิดสู่หลักปฏิบัติที่ผมเองและครอบครัวได้ใช้ดำเนินชีวิต” เป็นคำบอกเล่ากล่าวเกริ่นของอุ่นเรือน เกิดสุข อุ่นเรือนและภรรยา นางดรุณี มีลูกสาวจำนวน 2 คน มีภูมิลำเนาอยู่บ้านปางน้ำถุ ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งในสองของกลุ่มบ้านปางอั้น หมู่ที่ 1 ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เดินทางตามถนนสายเชียงใหม่-แม่สรวย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118) บริเวณกิโลเมตรที่ 50 จากตัวเมืองเชียงใหม่ เข้าไปในหมู่บ้านอีก 1 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่มีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูง มีพื้นที่ป่าเป็นส่วนใหญ่มีบ้านเรือน ผู้คนกระจายอยู่ในพื้นที่ อาชีพเดิมก่อนจะทำเกษตรผสมผสานได้ประกอบอาชีพทำไร่เมี่ยง ร่วมกับทำสวนกาแฟ ซึ่งเป็นอาชีพที่ยึดถือปฏิบัติมาตามบรรพบุรุษ เมี่ยง หรือชาเมี่ยงเป็นพืชสายพันธุ์เดียวกับต้นชา ลักษณะเป็นไม้พุ่ม มักขึ้นตามที่สูงในเขตร้อน โดยเฉพาะตอนเหนือของประเทศไทยไปถึงเขตประเทศจีน ทางภาคเหนือใช้ใบอ่อนนำมาประกอบอาหาร เช่น ยำใบเมี่ยง นำมาเป็นผักเคียงรับประทานคู่กับอาหารภาคเหนือ เช่น ลาภ แกงหน่อไม้ ใบอ่อนและยอดอ่อนนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชา และใบอ่อนของเมี่ยงสดนำมามัดเป็นกำนึ่งแล้วหมักไว้จนใบชาเปลี่ยนสภาพเป็นสีเหลือง ลักษณะยุ่ยแล้วจึงนำมาบริโภค รับประทานเป็นของว่างหลังอาหาร มีรสชาติเปรี้ยวและฝาด เมื่อต้นเล็กๆจะโตช้า แต่เมือเวลาผ่านไปมากกว่าหนึ่งปีอัตราการเจริญเติบโตจะเป็นปกติ สามารถเก็บใช้ประโยชน์ได้เมื่อมีอายุสี่ปี อุ่นเรือนบอกว่าการเก็บเมี่ยง จะเก็บประมาณปีละ 4 ครั้ง ครั้งแรกในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม อีกสามรุ่นต่อมาเว้นระยะการเก็บ 1-2 เดือน เป็นช่วงเดือนกรกฎาคม กันยายน และ ตุลาคม การทำไร่เมี่ยงของชาวบ้านเป็นตัวอย่างที่ดีอย่างหนึ่งกับสังคมชุมชนที่อยู่ร่วมกับป่า โดยการปลูกเมี่ยงตามวิธีของชาวบ้าน คือการลงกล้าไม้ หรือเมล็ดแทรกระหว่างต้นไม้ป่าที่มีอยู่เดิม และจะไม่ใช้วิธีตัดไม้ถางป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูก แต่กระนั้นแม้วิธีดั้งเดิมที่บรรพบุรุษได้ทำมา ยังไม่สามารถสร้างรายได้ ให้เพียงพอกับค่าครองชีพที่นับวันยิ่งสูงขึ้น ประกอบกับรายได้หลักของครอบครัวที่มาจากการจำหน่ายผลผลิตจะได้เฉพาะช่วงเวลาที่พืชให้ผลผลิตเท่านั้น ส่วนเวลาที่เหลือในรอบปีตนเองต้องไปประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปตามที่ได้รับการว่าจ้าง ซึ่งรายได้ที่ได้รับยังไม่มีความแน่นอน ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายในครอบครัว มีปัญหาหนี้สินเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ละความพยายามหันมาทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ได้แก่ ปลูกขิงและข้าวโพด แต่ประสบปัญหาการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงในปริมาณสูงเสียต้นทุนดำเนินการมากไม่คุ้มค่ากับการลงทุน “จนกระทั่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยการนำของดร.พิศิษฐ์ วรอุไร ได้เข้ามาส่งเสริมอาชีพการเกษตร และนำราษฎรไปศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาฯ ราษฎรมีความสนใจในกิจกรรมการเกษตรหลายด้าน มีความตั้งใจนำมาปรับใช้ในพื้นที่ โดยผ่านกระบวนการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้และรับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตจากศูนย์ศึกษาฯ แต่ทว่าราษฎรไม่สามารถดำเนินกิจกรรมการเกษตรต่างๆที่มีความสนใจได้ เนื่องจากน้ำใช้ในพื้นที่มีไม่เพียงพอ ราษฎรจึงขอรับการสนับสนุนจากศูนย์ศึกษาฯในการแก้ปัญหา จัดหาแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และเพียงพอเพื่อทำการเกษตรให้หลากหลาย สร้างเป็นกิจกรรมเกษตรผสมผสาน” อุ่นเรือนบอกด้วยว่าศูนย์ศึกษาฯ เข้ามาสำรวจพื้นที่และสนับสนุนสร้างฝายบ้านปางน้ำถุขึ้น ซึ่งเป็นฝายถาวรแบบฝายเก็บกักน้ำ (ฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก) พร้อมวางระบบท่อส่งน้ำฝั่งซ้ายให้กับหมู่บ้าน สร้างประโยชน์มหาศาลให้กับพื้นที่การเกษตร จำนวน 200 ไร่ และครัวเรือนราษฎรบ้านปางน้ำถุ ทำให้ราษฎรในหมู่บ้านมีน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค และน้ำใช้สำหรับที่จะทำการเกษตรต่างๆ เมื่อมีทรัพยากรต้นทุนที่เป็นปัจจัยหลักสำคัญในการดำเนินชีวิตคือ “น้ำ”ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานไว้ “น้ำคือชีวิต”ในพื้นที่ สภาพน้ำท่าอุดมสมบูรณ์เพียงพอสำหรับการใช้อุปโภค บริโภค และการทำการเกษตร รวมถึงสภาพภูมิอากาศที่ไม่ร้อนจนเกินไป มีความเย็นอย่างต่อเนื่อง อุ่นเรือนจึงได้เริ่มขับเคลื่อนกิจกรรมเกษตรผสมผสานที่เลือกไว้อย่างเต็มที่ ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไร่เมี่ยง โดยการเพิ่มเติมกิจกรรมต่างๆ ลงบนที่ดินของตนให้มีความหลากหลาย สามารถใช้ประโยชน์ของพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างเกื้อกูลกันโดยไม่ละทิ้งไร่เมี่ยงและสวนกาแฟที่ทำอยู่เดิม กิจกรรมต่างๆในพื้นที่ของอุ่นเรือนประกอบด้วย การปลูกไม้ผล ชนิดและสายพันธุ์ไม้ผลที่ปลูกจะมุ่งเน้นพันธุ์พืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่ ทนทานต่อโรคและแมลงรบกวน สามารถจำหน่ายสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้ ได้แก่ ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ ขาวทองดี และท่าข่อย เงาะโรงเรียน มะไฟ ทุเรียน กระท้อน มะขามป้อม ซึ่งเป็นผลไม้พื้นบ้านที่จำหน่ายได้ราคาดีไม่ต้องดูแลมาก อุ่นเรือนบอกอีกว่ายังแบ่งพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัว ที่ใช้บริโภคและประกอบอาหารเป็นประจำ ผักพื้นบ้านในท้องถิ่น เช่น ลิงลาว ผักกูด ที่เป็นที่นิยมของคนในชุมชุน และเหมาะสมกับสภาพลักษณะภูมิประเทศในพื้นที่ป่า นอกจากนี้ในพื้นที่ยังขุดสระน้ำไว้สำหรับกักเก็บน้ำ และเลี้ยงปลาต่างๆไว้เป็นแหล่งอาหาร การประกอบอาชีพด้วยพื้นที่ที่มีอยู่ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอุ่นเรือนบอกไม่ลืมที่จะยึดเดินตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่บนรากฐานแห่งเศรษฐกิจพอเพียงฯไม่ได้มุ่งที่จะก้าวไปสู่ความร่ำรวยแต่มุ่งที่จะให้ครอบครัวเข้มแข็งพออยู่พอกินไม่ขาดแคลนตามแนวพระราชดำริที่พ่อหลวงทรงแนะนำไว้อย่างจริงจัง กิจกรรมที่สำคัญที่สร้างรายได้หลักให้ครอบครัวอุ่นเรือนด้วยข้อได้เปรียบของสภาพพื้นที่ บนพื้นที่สูง ซึ่งมีสภาพอากาศค่อนข้างเย็นตลอดปี คือการเพาะเห็ดเศรษฐกิจจึงเป็นทางเลือกที่ดีของครอบครัวและเลือกที่จะเพาะเห็ดในถุงพลาสติก โดยเฉพาะเห็ดหอมที่ชอบอากาศเย็น สามารถเพาะเลี้ยง และมีผลผลิตจำหน่ายได้ตลอดปีเป็นข้อได้เปรียบหากเปรียบเทียบกับเกษตรกรพื้นราบที่สามารถเพาะได้ในเฉพาะช่วงฤดูหนาวเท่านั้น โดยวางแผนการผลิตเห็ดหอมเป็นรุ่นๆ คำนึงถึงสถานการณ์ของตลาด เทศกาลสำคัญต่างๆ และคำนึงถึงมาตรฐานของผลผลิตที่ดี จึงเป็นที่นิยมของพ่อค้าแม่ค้า และผู้บริโภค ผู้สนใจเข้าไปเยี่ยมชมกิจกรรมในพื้นที่สามารถเลือกซื้อผลผลิตที่สดใหม่ นอกจากเห็ดหอมแล้วได้เพาะเห็ดชนิดต่างๆ เข้ามาเสริมรายได้ เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดลมป่า และเห็ดหลินจือ ฯลฯ การดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริอุ่นเรือนบอกว่าตนเอง และครอบครัวทุกวันนี้ ได้น้อมนำมาพิจารณาถึงความเหมาะสมกับวิถีชีวิตให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และเกิดประโยชน์สูงสุด ที่อุ่นเรือนบอกว่าสามารถบอกสังคมได้เลย 1.ความพอประมาณ ได้มีการประเมินความพร้อมของตนเองและคนในครอบครัว ความพร้อมในทุกๆด้าน ทั้งกำลังทุนทรัพย์ กำลังแรงงาน กำลังความรู้และความสามารถ โดยกิจกรรมเกษตรผสมผสานที่ดำเนินการอยู่ ประกอบด้วยหลากหลายกิจกรรม การดูแลเอาใจใส่ และระยะเวลาของการให้ผลผลิตต่างกัน การวางแผนระบบการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวอย่างต่อเนื่อง 2.ความมีเหตุผล ทำกิจกรรมใดๆต้องยึดความสุข การยอมรับของสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก คำนึงถึงผลที่จะได้รับ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้างและชุมชน โดยการทำกิจกรรมที่เกิดจากความรัก ความพอใจ จะช่วยส่งผลให้งานนั้นบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกวันนี้ตนและครอบครัวมีความสุขจากการทำงาน สุขจากความพอเพียง สุขจากการได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือ ถ่ายทอดองค์ความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ ให้หลายๆคนได้นำไปปฏิบัติจนประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม 3.การสร้างภูมิคุ้มกัน เมื่อเปรียบเทียบการทำไร่เมี่ยง และกาแฟอย่างเดียว ไม่สามารถให้ผลผลิตตลอดปี ทำให้รายได้ที่ได้รับไม่ต่อเนื่อง ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น เมื่อปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรผสมผสานทำให้มีหลากหลายกิจกรรม มีการวางแผนการผลิตที่ดี ทุกวันนี้สามารถสร้างแหล่งอาหารในครัวเรือน และสร้างรายได้ให้ครอบครัวอย่างต่อเนื่อง จนสามารถมีเงินเก็บออม พึ่งตนเองได้และเป็นที่พึ่งให้เพื่อนบ้าน อุ่นเรือนบอกต่อไปว่าความสุขที่เกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้างทุกวันนี้ คือความสุขบนความพอเพียง สุขที่ได้เดินตามรอยพระราชดำริ ความสุขที่ไม่เป็นหนี้ใคร และสามารถส่งลูกเรียนในระดับอุดมศึกษาได้ โดยลูกสาวทั้งสองคนกำลังศึกษาระดับปริญญาโท คณะเกษตรศาสตร์ และปริญญาตรี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามลำดับ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวทุกวัน และตนเองตระหนักอยู่เสมอว่าคนเราจะอยู่คนเดียวเพียงลำพังไม่ได้ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและการทำงานอย่างมีส่วนร่วมถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยเสริมสร้างความรัก ความเอื้ออาทร ความสามัคคี ความสำเร็จในชุมชนให้เกิดขึ้น เมื่อมีโอกาสตนและครอบครัวจะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลืองานต่างๆของชุมชนอย่างเต็มที่และเต็มใจ สิ่งที่อุ่นเรือนบอกภาคภูมิใจเป็นที่สุดในชีวิต คือ การมีพ่อที่ประเสริฐในชีวิตถึงสองคน โดยพ่อคนแรก คือ พ่อผู้ให้กำเนิดชีวิต ให้สมบัติและให้ที่ดิน ส่วนพ่อคนที่สอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นพ่อผู้ให้แนวความคิดนำมาปรับใช้จนมีวันนี้ขึ้นมา...ซึ่งตนเองได้ตั้งปณิธานไว้ในการตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณ โดยจะตั้งมั่นในการทำความดี คิดดี พูดดีและทำดี ทำทุกอย่างเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี โดยเฉพาะการน้อมนำองค์ความรู้และแนวพระราชดำริต่างๆ จากศูนย์ศึกษาฯ มาเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ การนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต โดยสามารถสร้างผลสำเร็จออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสิ่งเหลานี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้างแนวคิดและการแสดงตัวอย่างให้ผู้สนใจนำไปปฏิบัติ ปัจจุบันพื้นที่ของ อุ่นเรือน เกิดสุข ได้รับการคัดเลือกและยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริด้านเกษตรผสมผสาน เป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงาน สำหรับผู้สนใจทั่วไป นักเรียน นักศึกษา ประชาชนคนไทย และชาวต่างประเทศ ผู้สนใจเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่เดินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรสามารถมาขอรับบริการในรูปแบบการศึกษาดูงาน การพักแรมเพื่อเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การเรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิตแบบอยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูล ทศพล เทพจันทร์/เรื่อง-ภาพ เสกสรร สิทธาคม เรียบเรียง