หมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (1) บริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก มีสภาพเป็นป่ารกทึบ ภูเขาสูงสลับซับซ้อน ห่างไกลและกันดาร การแบ่งเส้นเขตแดนในหลายพื้นที่ไม่มีความชัดเจน ระยะทางประมาณ 1,020 กิโลเมตร เป็นสันเขา 548 กิโลเมตร เป็นลำน้ำ 472 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยและทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์เผ่าต่างๆ รวมถึงเป็นแหล่งพักพิงของกองกำลังชนกลุ่มน้อย ในบางครั้งก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ เกิดปัญหาการรุกล้ำอธิปไตยของชาติ รวมทั้งปัญหาชนกลุ่มน้อยใช้เป็นที่พักพิงหลบซ่อน และสะสมกำลังเพื่อต่อต้านรัฐบาลเมียนมาร์ ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักต่อปัญหานี้ เมื่อครั้งเสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างประทับได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นต่างๆ พื้นที่ภาคเหนือ ทรงมีกระแสพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงความมั่นคงตามแนวชายแดน ทรงเป็นห่วงว่าราษฎรชาวเขาที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ฝ่ายตรงข้ามที่เขาไม่หวังดีต่อประเทศ เขาจะใกล้ชิดคนเหล่านี้มากกว่าเรา ถ้าเราไม่ใกล้ชิดเขาก็จะมายุยงส่งเสริมให้เป็นอื่น เราก็จะลำบาก จะต้องรักษาคนเหล่านี้ไว้ จะต้องรักษาประเทศชาติไว้ รักษาคน รักษาประเทศ ทหารก็ดี ตำรวจชายแดนก็ดี หรือกรมป่าไม้ก็ดี ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา ถ้าราษฎรที่เขาอยู่ตลอด เขามีความสำนึกเป็นไทย เขารักประเทศไทย เขาหวงแหนแผ่นดิน เขาก็เป็นยามที่ดี” ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2542 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรที่บ้านรวมไทยพัฒนาที่ 1 ตำบลรวมไทยพัฒนา อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ในการนี้ได้มีพระราชดำริกับ พลตรีชัยยุทธ เทพยสุวรรณ ผู้บัญชาการกองพลพัฒนาที่ 3 “ให้พิจารณานำราษฎรชาวไทยภูเขาที่สมัครใจไปเป็นยามตามชายแดนตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงของประเทศ" ในปีเดียวกัน เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2542 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานแนวทางเพิ่มเติมกับกองทัพบก ดังนี้ 1.ให้หมู่บ้านยามชายแดนเป็นหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นใหม่บนภูเขาเพราะชาวเขามีความคุ้นเคยกับการอยู่บนภูเขามากกว่าพื้นราบ และเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยพอสมควร 2.พื้นที่จัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนเป็นพื้นที่ที่สามารถทำการเกษตรได้ ดังเช่นดอยอ่างขาง มีแหล่งนี้ มีพื้นที่เพียงพอสำหรับหมู่บ้านประมาณ 40-50 ครอบครัว 3.ให้ทหารช่วยฝึกอบรมระบบป้องกันภัยและฝึกการรายงานข่าว เพื่อให้ราษฎรช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับทางราชการ 4.ให้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพสนับสนุนอาชีพ และทหารช่วยในการจัดตั้งหมู่บ้าน ตามแนวพระราชดำริดังกล่าว คณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาราษฎรชาวไทยภูเขาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เห็นชอบให้ดำเนินการใน 2 พื้นที่นำร่อง คือบ้านมะโอโคะ จังหวัดตาก และบ้านปางคองจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดตั้งเป็น โครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านมะโอโคะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และโครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านปางคอง ตำบลนาปู่ป้อม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อ่านต่อ) นางสาวใบทิพย์ ศรีทองสุข กองประสานงานโครงการพื้นที่ 3 สำนักงานกปร.