ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขาธิการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และประธานคณะกรรมการจัดการแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงบนเวทีมหรสพในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กล่าวว่า การแสดงในครั้งนี้ เริ่มจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชประสงค์จะให้โขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงบนเวทีมหรสพในงานถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงเป็นที่มาของการร่วมกันทั้งคณะกรรมการ ครู ผู้เชี่ยวชาญ นักร้อง นักดนตรี รวมไปถึงนักเรียน ผู้ทำงานประกอบฉาก ทั้งงานผ้า งานหัวโขน งานเครื่องประดับโขน งานจิตรกรรม และงานประติมากรรมต่างๆ ได้มีโอกาสร่วมแสดงความจงรักภักดี ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลธิการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สำหรับโขนพระราชทาน ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ดำเนินงานมากว่า 10 ปี และในวาระงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 26 ตุลาคม นี้ คณะโขนพระราชทานจะมีโอกาสร่วมแสดงความจงรักภักดี โดยได้รับมอบหมายให้เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการแสดงมหรสพครั้งนี้กับกรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ตามพระราชกระแสในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นการแสดงโขนหน้าเวทีกลางแจ้ง บริเวณสนามหลวงด้านทิศเหนือ โดยกำหนดให้ผู้แสดงโขนทั้งหมดซ้อมร่วมกันที่วิทยาลัยนาฏศิลป ศาลายา จังหวัดนครปฐม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษาของวิทยาลัยนาฏศิลปที่เคยแสดงโขนพระราชทานมาแล้ว รวมถึงครูอาจารย์ด้านนาฏศิลป์ที่ต้องการมีส่วนร่วมแสดงถวายพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย ทั้งนี้ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าวต่อว่า การแสดงโขนพระราชทานในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จัดทำฉากโดยนักเรียนจากศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้เป็นชาวปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยง อยู่ในพื้นที่ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และบ้านห้วยต้า อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับไว้ในพระราชินูปถัมภ์ เข้ามาศึกษาเรียนรู้งานด้านประติมากรรม ตลอดจนการทำหัวโขน และฉากโขนพระราชทาน ซึ่งทุกคนพร้อมปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งในการแสดงโขนพระราชทานในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรนี้ จะใช้ผู้แสดงมากถึง 300 คน มากกว่าโขนพระราชทานที่จัดแสดงเป็นปกติ ที่ใช้ผู้แสดงประมาณ 200 คน ดังนั้น จึงต้องจัดทำเครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับโขนเพิ่มเติมตามโบราณราชประเพณี โดยใช้ช่างฝีมือของศูนย์ศิลปาชีพ สีบัวทอง จังหวัดอ่างทอง ศูนย์ศิลปาชีพสวนจิตรลดา และสมาชิกของศูนย์ศิลปาชีพอีกหลายแห่ง เพื่อร่วมกันปักเครื่องโขนพระราชทานให้วิจิตรงดงาม ทั้งนี้ การจัดทำเครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ประกอบฉากจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2560 นี้